แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยข้อหาร่วมกันบุกรุกข่มขืนกระทำชำเรา ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายดูตัวผู้ต้องหาผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยร่วมกับพวกบุกรุก ข่มขืนกระทำชำเรา และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย ชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การระบุพฤติการณ์ของจำเลยที่ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายไว้โดยชัดแจ้ง พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาฐานข่มขืนกระทำชำเรา พรากผู้เยาว์ บุกรุก และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ดังนี้ เชื่อได้ว่าผู้เสียหายร้องทุกข์ด้วยวาจาครั้งแรกได้แจ้งรายละเอียดในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราด้วย แต่พนักงานสอบสวนมิได้บันทึกไว้ เป็นความบกพร่องของพนักงานสอบสวนเอง ถือได้ว่าผู้เสียหายร้องทุกข์ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแล้ว.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365,318, 310, 276, 90, 91, 83 และขอให้เพิ่มโทษเนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกแล้วกลับมากระทำผิดอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276, 310, 318, 91, 83 เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 6 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุก 1 ปีฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี รวมจำคุก 15 ปีคำให้การจำเลยชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้นผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ปัญหาวินิจฉัยมีว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราด้วยหรือไม่ ตามบันทึกการมอบคดีความผิดต่อส่วนตัวเอกสารหมาย จ.7 ผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2528 และในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยข้อหาร่วมกันบุกรุกข่มขืนกระทำชำเรา ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.5 พนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายดูตัวผู้ต้องหา ผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกบุกรุกข่มขืนกระทำชำเรา และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย ตามบันทึกการดูตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.6 เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้เสียหายและผู้ต้องหาในเวลาต่อมา ผู้เสียหายให้การระบุพฤติการณ์ของจำเลยที่ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายไว้อย่างชัดแจ้ง ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.8พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาฐานข่มขืนกระทำชำเรา พรากผู้เยาว์บุกรุก และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เชื่อว่าผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อพนักงานสอบสวนครั้งแรกโดยแจ้งรายละเอียดในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราด้วย แต่พนักงานสอบสวนมิได้บันทึกระบุข้อหาฐานข่มขืนกระทำชำเราลงไว้เห็นว่าเป็นความบกพร่องของพนักงานสอบสวนเอง ทั้งๆ ที่ก็ได้ทำการสอบสวนในข้อหาฐานข่มขืนกระทำชำเรามาพร้อมกันด้วย จึงถือได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราแล้วดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7), 123 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยได้กระทำความผิดในข้อหานี้ด้วย และจำเลยมิได้แก้ฎีกามาเป็นอย่างอื่น จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276 วรรคแรก ให้ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.