แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง คดีแรงงาน
++ คดีแดงที่ 4530-4534/2543
++
การกระทำความผิดของลูกจ้างที่จะทำให้นายจ้างเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดที่นายจ้างถือเป็นเหตุในการเลิกจ้างซึ่งจะต้องเป็นเหตุที่มีอยู่ในขณะเลิกจ้าง
จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541แต่การกระทำของโจทก์ทั้งหกที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรงนั้นเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกแล้วการกระทำดังกล่าวจำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างย้อนหลังเพื่อเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกในวันที่ 24 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างได้ แม้จะให้การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 31 มีนาคม 2541 ก็ตาม
จำเลยก็ไม่ได้ออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกใหม่อีกครั้งโดยยกเอาการกระทำภายหลังดังกล่าวของโจทก์ทั้งหกเป็นเหตุเลิกจ้าง ฉะนั้นไม่ว่าการกระทำภายหลังของโจทก์ทั้งหกดังกล่าวจะเป็นความผิดตามที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ ก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างได้กำหนดไว้ในข้อ 2ว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน โดยไม่ได้กำหนดว่าลูกจ้างทดลองงานไม่ให้ถือว่าเป็นลูกจ้างตามความหมายแห่งประกาศข้อดังกล่าว โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ตั้งแต่เป็นลูกจ้างทดลองงานแล้ว จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 12 กันยายน 2539 ข้อ 7 ที่กำหนดว่า ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในส่วนที่จ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามประกาศดังกล่าวให้แก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งหกสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๖
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างจำเลย โดยโจทก์แต่ละคนเข้าทำงานในหน้าที่และได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละตามที่ระบุในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒ และ ๑๖ ของเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามจำนวนที่ระบุในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน กับระหว่างวันที่ ๑มีนาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เข้าทำงานวันแรกถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม๒๕๔๐ จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรวมเป็นเงินคนละ ๑๑,๐๐๙.๕๘ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งหก และจ่ายค่าจ้างที่จ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่โจทก์ที่ ๒และที่ ๓ ตามฟ้อง
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งหกกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง โดยเอาเอกสารของจำเลยไป ทำให้จำเลยเสียหาย และละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรในระหว่างทำงานโจทก์ที่ ๑ เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าจากจำเลยไป ๕๐,๐๐๐ บาทคืนบางส่วนแล้ว ยังคงค้างชำระอยู่อีก ๒๑,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าไป ๑,๐๐๐ บาท และยังไม่ชำระคืน กับโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นลูกจ้างทดลองงาน ๓ เดือน จึงไม่อาจเรียกค่าจ้างเพิ่มได้ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ คืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าจำนวน ๒๑,๐๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เงินจำนวน ๒๑,๐๐๐บาท ตามฟ้องแย้งเป็นหนี้เงินยืม หนี้ดังกล่าวเมื่อนำไปหักกลบลบหนี้กับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว จำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์ที่ ๑ จำนวน๑๑๘,๙๗๐ บาท ส่วนเงินจำนวน ๑,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ ๒เป็นค่าจ้างทำงานชั่วคราวหลังจากจำเลยเลิกจ้าง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒ และ ๑๖ ของเดือนแม้โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ จะเป็นลูกจ้างทดลองงานก็มีสิทธิได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๑ โดยให้มีผลในวันสิ้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๑เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๑ จำเลยแจ้งแก่โจทก์ที่ ๑ ว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ ๑ เพียงคนเดียว ส่วนโจทก์อื่นจะไม่จ่ายให้โดยอ้างว่าขาดทุน โจทก์ที่ ๕ ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีจึงนำเอกสารทางบัญชีของจำเลยไปตรวจสอบที่ห้องเขียนแบบซึ่งเป็นห้องทำงานของโจทก์ที่ ๑ เพื่อจะทราบว่าจำเลยขาดทุนจริงหรือไม่ โดยโจทก์ที่ ๑ ร่วมตรวจสอบด้วยแล้วเสร็จเมื่อเวลาประมาณ๑๖.๓๐ นาฬิกา หลังจากนั้นโจทก์ที่ ๕ จะนำเอกสารดังกล่าวไปเก็บ แต่ห้องเก็บเอกสารถูกปิดประตูใส่กุญแจแล้วโจทก์ที่ ๕ จึงนำกลับมาเก็บไว้ที่ห้องเขียนแบบฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกเอาเอกสารของจำเลยไป โจทก์ทั้งหกไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่ได้กระทำความผิด จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหก กับโจทก์ที่ ๑ ต้องชำระค่าจ้างที่เบิกไปล่วงหน้าคืนจำเลย ๒๑,๐๐๐บาท และหลังเลิกจ้างแล้วจำเลยจ้างเหมาโจทก์ที่ ๒ ทำงานแกะลายกระจกเงิน ๑,๐๐๐ บาท ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ ๒ เป็นค่าจ้างเหมา ไม่ใช่โจทก์ที่ ๒เบิกค่าจ้างล่วงหน้า โจทก์ที่ ๒ จึงไม่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลย พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งหกจำนวน ๑๑,๐๔๐ บาท๒,๕๙๒ บาท ๒,๕๙๒ บาท ๔,๐๐๒ บาท ๕,๒๘๐ บาท ๔,๘๐๐ บาท และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกจำนวน ๑๒๔,๒๐๐ บาท ๑๔,๕๘๐ บาท ๑๔,๕๘๐ บาท๔๕,๐๓๐ บาท ๕๙,๐๐๐ บาท และ ๕๔,๐๐๐ บาท ตามลำดับ กับจ่ายค่าจ้างที่ขาดจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑๑,๐๐๙.๕๘ บาท และให้โจทก์ที่ ๑ ชำระค่าจ้างล่วงหน้าคืนแก่จำเลย ๒๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยว่า จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๑ โดยให้มีผลเลิกจ้างในวันสิ้นเดือนมีนาคม๒๕๔๑ โจทก์ทั้งหกจึงต้องทำงานจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ เมื่อโจทก์ทั้งหกไม่มาทำงานตั้งแต่ก่อนการเลิกจ้างมีผล จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ แม้โจทก์ทั้งหกจะไม่มาทำงานเพราะไปดำเนินการเกี่ยวกับค่าชดเชยก็ไม่เป็นเหตุอันสมควร เพราะโจทก์ทั้งหกสามารถดำเนินการหลังวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ ได้อยู่แล้ว การไม่มาทำงานของโจทก์ทั้งหกจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรกับการนำเอกสารทางบัญชีของจำเลยออกจากห้องเก็บเอกสารไปตรวจสอบว่าจำเลยมีกำไรหรือขาดทุนไม่อยู่ในวิสัยที่ลูกจ้างจะพึงกระทำ และโจทก์ที่ ๕ เป็นสมุห์บัญชีของจำเลยย่อมจะทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยมีกำไรหรือขาดทุน ไม่จำต้องตรวจสอบเอกสาร ทั้งการเรียกค่าชดเชยของโจทก์ทั้งหกก็ไม่เกี่ยวกับการมีกำไรหรือขาดทุนของจำเลย การที่โจทก์ทั้งหกนำเอกสารออกจากห้องเก็บเอกสารไปตรวจสอบว่าจำเลยมีกำไรหรือขาดทุนจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง เมื่อการกระทำของโจทก์ทั้งหกเป็นความผิดดังกล่าว โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจากจำเลยนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดของลูกจ้างที่จะทำให้นายจ้างเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น จะต้องเป็นการกระทำความผิดที่นายจ้างถือเป็นเหตุในการเลิกจ้าง ซึ่งจะต้องเป็นเหตุที่มีอยู่ในขณะเลิกจ้าง ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๑ แต่การกระทำของโจทก์ทั้งหกที่จำเลยอุทธรณ์ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรงนั้นเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกแล้ว การกระทำดังกล่าวจำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างย้อนหลังเพื่อเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างได้ แม้จะให้การเลิกจ้างมีผลในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ ก็ตาม นอกจากนี้จำเลยก็ไม่ได้ออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกใหม่อีกครั้งโดยยกเอาการกระทำภายหลังดังกล่าวของโจทก์ทั้งหกเป็นเหตุเลิกจ้าง ฉะนั้นไม่ว่าการกระทำภายหลังของโจทก์ทั้งหกดังกล่าวจะเป็นความผิดตามที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ ก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในระหว่างเป็นลูกจ้างทดลองงานนั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ซึ่งใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างได้กำหนดไว้ในข้อ ๒ ว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่าผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน โดยไม่ได้กำหนดว่าลูกจ้างทดลองงานไม่ให้ถือว่าเป็นลูกจ้างตามความหมายแห่งประกาศข้อดังกล่าว โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ตั้งแต่เป็นลูกจ้างทดลองงานแล้ว จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๑๒ กันยายน๒๕๓๙ ข้อ ๗ ที่กำหนดว่า ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในส่วนที่จ่ายต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓
พิพากษายืน.