แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งนายอำเภอประกาศสงวนเมื่อวันที่30 ตุลาคม 2478 สำหรับใช้ดำเนินการเป็นทัณฑ์นิคมของกรมราชทัณฑ์นั้นแม้ในประกาศสงวนจะมีความว่าห้ามราษฎรบุกรุกถากถางจับจอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแต่เมื่อต่อมามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินพ.ศ.2478 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2479 แล้ว การถอนการหวงห้ามที่สงวนตามประกาศสงวนของนายอำเภอดังกล่าวจะทำได้ก็แต่โดยพระราชกฤษฎีกา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
โจทก์เข้าก่นสร้างที่พิพาทซึ่งเป็นที่สงวนเมื่อ พ.ศ.2483 ขอจับจองและได้รับใบเหยียบย่ำเมื่อ พ.ศ.2494 ครอบครองทำประโยชน์และได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อ พ.ศ. 2501 ไม่ทำให้โจทก์อ้างสิทธิขึ้นเป็นข้อต่อสู้แผ่นดินได้ ที่พิพาทยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่นั่นเองเจ้าพนักงานจะออกใบเหยียบย่ำหรือโฉนดบนที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินชนิดนี้ให้เอกชนไม่ได้ (อ้างฎีกาที่ 214/2480)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางอิ่มภริยาถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่50 ไร่ ได้มาโดยการจับจอง แล้วครอบครองจนได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) นางอิ่มตาย โจทก์ร้องขอทำนิติกรรมขายที่ดินส่วนหนึ่งและร้องขอรับมรดกส่วนของนางอิ่ม จำเลยซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ คัดค้านว่าที่ดินโจทก์อยู่ในแนวเขตที่ดินสงวนและสั่งบริวารบุกรุกที่ดินดังกล่าว ขอให้สั่งพนักงานที่ดินจัดทำนิติกรรมและจดทะเบียนสิทธิที่ดินตาม น.ส.3 ให้โจทก์ และบังคับจำเลยกับบริวารออกจากที่ดิน ห้ามเกี่ยวข้อง
จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินของกรมราชทัณฑ์ ได้มาโดยประกาศสงวนที่ดินของนายอำเภอจันทึก โจทก์ได้ น.ส.3 มาโดยเจ้าพนักงานหลงผิด โจทก์บุกรุกที่พิพาทกรมราชทัณฑ์มอบอำนาจให้จำเลยดำเนินคดีฟ้องแย้ง จึงฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารและขอให้ศาลสั่งเพิกถอน น.ส.3 ซึ่งออกให้แก่โจทก์และนางอิ่ม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่รับรองว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของกรมราชทัณฑ์ โจทก์ได้ที่พิพาทมาด้วยวิธีการอันชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของอำเภอสีคิ้ว ซึ่งออกให้แก่ดโจทก์และนางอิ่ม ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กรมราชทัณฑ์ไม่ได้เป็นคู่ความ ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องแย้ง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตประกาศสงวนที่ดินสำหรับทัณฑ์นิคมคลองไผ่ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งนายอำเภอวันที่ออกประกาศสงวนเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2478 ย้ายประกาศสงวนที่ดินมีความว่า”ฉะนั้น ตามเหตุที่กล่าวนี้ ห้ามไม่ให้ราษฎรคนใดเข้าไปบุกรุกถากถางจับจองเป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ส่วนที่ดินเฉพาะที่เป็นสิทธิของราษฎรมีมาแต่ก่อนแล้ว ก็ให้เป็นสิทธิคงเดิมห้ามไม่ให้ถากถางจับจองรุกล้ำออกไปอีก”โจทก์และภริยาเข้าก่อสร้างที่พิพาทเมื่อ พ.ศ. 2483 พ.ศ. 2494 โจทก์ยื่นขอจับจองนายอำเภอสีคิ้วออกใบเหยียบย่ำให้ โจทก์ครอบครองทำดินมาจนพ.ศ. 2511 จึงได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มีปัญหาว่าโจทก์จะได้สิทธิในที่พิพาทหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศสงวนที่ดินลงวันที่ 30 ตุลาคม 2478ดังกล่าวข้างต้น ต่อมามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2474 มาตรา 7 บัญญัติว่าการถอนการหวงห้ามทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ก็ให้ออกเป็นกฤษฎีกา การถอนการหวงห้ามที่ว่ามานี้ ให้รวมทั้งการหวงห้ามที่มีไว้ก่อนใช้พระราชบัญญัตินี้ด้วยดังนั้น ที่สงวนรายพิพาทจะถอนการหวงห้ามได้ก็แต่โดยพระราชกฤษฎีกาอนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา การที่โจทก์ยื่นขอจับจองจนได้รับใบเหยียบย่ำใน พ.ศ. 2494 ครอบครองทำประโยชน์และได้ใบรับรองการทำประโยชน์ใน พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นเวลาที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าว ยกเลิกและมีประมวลกฎหมายที่ดินใช้แทน แต่ตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินก็คุ้มครองเฉพาะผู้มีสิทธิในที่ดินก่อนวันประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับดังนั้นจึงไม่ทำให้โจทก์อ้างสิทธิขึ้นเป็นข้อต่อสู้แผ่นดินได้ ที่พิพาทยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่นั่นเอง เจ้าพนักงานจะออกใบเหยียบย่ำหรือโฉนดบนที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินชนิดนี้ให้เอกชนไม่ได้ ดังนัยฎีกาที่ 214/2480
พิพากษายืน