แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชนชาติญี่ปุ่นเช่าที่ดินของคนไทยมีกำหนด 5 ปี เช่าแล้วได้ปลูกอาคารโรงเรือนขึ้นบนที่เช่า ต่อมาผู้เช่าตกเป็น
บุคคลที่เป็นศัตรูของสหประชาชาติตามประกาศนายกรัฐมนตรีตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกักคุมตัวและการควบ คุมกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ มาตรา 3 ก.ท.ส. จึงเข้าควบคุมจัดกิจการของผู้เช่า ได้ตกลงกับผู้ให้เช่ามีใจความสำคัญว่า ผู้ให้เช่ายอมใช้เงินค่าเช่าล่วงหน้า 2400 บาท แต่ขอให้หักค่าเสียหาย 1500
บาท ค่าเช่าที่ค้างเป็นอันเลิกกันไป สิ่งปลูกสร้างเป็นของ ก.ท.ส. แต่ขอร้องให้ ก.ท.ส. ให้โอกาศรับซื้อก่อนคนอื่น
เมื่อคนอื่นให้ราคาเท่ากัน ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าตาม ป.ม.แพ่งฯ
มาตรา 850 แล้ว ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ./
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย
จึงขอให้จำเลยใช้เป็นเงิน ๒๖๘๘๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ. ๑ นั้น ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เอกสาร จ. ๑ มีข้อความว่า “นายผอบ ฤกษ์สาร ยอมใช้เงินค่าเช่าล่วงหน้า ๒๔๐๐ บาท แต่ขอให้
หักค่าเสียหาย ๑๕๐๐ บาท ค่าเช่าค้างเป็นอันเลิกกันไป สิ่งปลูกสร้างเป็นของ ก.ท.ส. แต่ขอร้องให้ ก.ท.ส. ให้โอกาศรับซื้อ ก่อนคนอื่นเมื่อคนอื่นให้ราคาเท่ากัน” นั้น ย่อมเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้จริง เพราะเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๘๕๐ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลแพ่ง ให้ทำการพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว เมื่อได้พิจารณาถึงมูลกรณีที่ปรากฎในคำฟ้อง คำให้การแล้ว ทำให้เห็นว่าการที่จำเลยลงชื่อในหนังสือ จ. ๑ นั้น แสดงให้เห็นว่า ได้มีข้อพิพาทเรื่องสัญญาเช่า และสิ่งปลูกสร้างในที่ของ
จำเลยกับ ก.ท.ส. การที่จำเลยทำหนังสือ จ. ๑ ก็เพื่อระงับข้อพิพาทนั่นเอง เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตาม
ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๘๕๐ ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์
จึงพิพากษายืน.