คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4515/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมได้เงิน 700,000 บาท ไป ศาลก็ชอบที่จะสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนนี้คืนให้แก่โจทก์ร่วมเพราะเมื่อร่วมกันกระทำความผิดก็ต้องร่วมกันชดใช้ การสั่งเช่นนี้เป็นการสั่งโดยคำนึงถึงความผิดทางอาญาของจำเลยทั้งสองเป็นสำคัญ ศาลอุทธรณ์จะสั่งยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้โดยคำนึงถึงคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 2ระหว่างดำเนินคดีนี้ และเห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้มีการยอมความกันแล้ว หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้บังคับในคดีแพ่งดังกล่าวได้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะคดีแพ่งดังกล่าวโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 2 คนเดียว มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ยกคำขอของโจทก์ในคดีนี้ที่ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในการใช้เงินคืน ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดไป และข้อเท็จจริงได้ความตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ยังไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่ง ดังกล่าวและมีทรัพย์สินไม่เพียงพอแก่การบังคับคดีด้วย ย่อมไม่เป็นการยุติธรรมต่อโจทก์ร่วม ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องคืนแก่โจทก์ร่วมตามที่ทางพิจารณาได้ความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 และให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 700,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา นางอาภรณ์พรรณ จรัสกุลางกูร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 จำเลยทั้งสองได้ชำระเงินบางส่วนคืนแก่โจทก์เป็นการบรรเทาความเสียหาย เห็นสมควรลงโทษสถานเบา ให้จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี สำหรับคำขอให้คืนเงินแก่โจทก์ร่วม เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยจำเลยที่ 2 และศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว จึงให้ยกคำขอให้ส่วนนี้

โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมข้อแรกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินตามฟ้องแก่โจทก์ร่วมชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมได้เงิน 700,000 บาท ไป ศาลก็ชอบที่จะสั่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนนี้คืนให้แก่โจทก์ร่วม เพราะเมื่อร่วมกันกระทำความผิดก็ต้องร่วมกันชดใช้ การสั่งเช่นนี้เป็นการสั่งโดยคำนึงถึงความผิดทางอาญาของจำเลยทั้งสองเป็นสำคัญ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้โดยคำนึงถึงคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 2 ระหว่างดำเนินคดีนี้ว่าได้มีการยอมความกันแล้ว หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้บังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าวได้ จึงเห็นว่าไม่ถูกต้อง ทั้งยังปรากฏว่าคดีแพ่งดังกล่าวโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 2 คนเดียว มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำขอของโจทก์ในคดีนี้ที่ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในการใช้เงินคืนย่อมทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นไปมีแต่จำเลยที่ 2 รับผิดผู้เดียว และข้อเท็จจริงได้ความตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ยังไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าวและมีทรัพย์สินไม่เพียงพอแก่การบังคับคดีด้วย ย่อมไม่เป็นการยุติธรรมต่อโจทก์ร่วมสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง แต่ได้ความว่า โจทก์ร่วมได้รับเงินจากจำเลยทั้งสองแล้วจำนวน 120,000 บาท ยังคงเหลือเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องคืนให้โจทก์ร่วมเพียง 580,000 บาท

มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองหรือไม่ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษ เห็นว่าพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองไม่ร้ายแรงนัก และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสองเข็ดหลาบและไม่หวนกลับไปกระทำความผิดสมควรลงโทษปรับจำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติจำเลยทั้งสองด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 580,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่งเป็นเงินคนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 และให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุรินทร์ทุก 4 เดือน มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share