คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ชายหญิงอยู่ด้วยกันอย่างสามีภริยาโดยเปิดเผย หญิงตั้งครรภ์และคลอดบุตร หญิงมารดาฟ้องชายให้รับรองบุตรได้
ผู้เชี่ยวชาญทำความเห็นเป็นหนังสือ ไม่ต้องมาเป็นพยานเบิกความประกอบก็ฟังได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนรับเด็กชายวีรพล เบี้ยวโต เป็นบุตรของจำเลย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาวินิจฉัยมีว่า โจทก์กับจำเลยได้อยู่กินกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจตั้งครรภ์ได้ หรือมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเด็กชายวีรพล เบี้ยวโต เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับรองบุตรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529(4) และ (5) หรือไม่ โจทก์เบิกความว่าบ้านโจทก์กับบ้านจำเลยอยู่ติดกัน มีประตูเปิดปิดเข้าถึงกันได้ ในปี 2507 โจทก์ได้เสียกับจำเลยที่บ้านโจทก์หลายครั้ง แต่ไม่มีใครรู้เห็น ต่อมานายมั่งหอมศิริ บิดาโจทก์จับได้ฐานะที่โจทก์กับจำเลยอยู่ในห้องเดียวกันเมื่อเวลาประมาณ 19 นาฬิกาเศษ หลังจากนั้นจำเลยก็มาอยู่กินกับโจทก์ที่บ้านโจทก์ได้ 4 – 5 เดือน บ้านโจทก์ถูกไล่ที่ โจทก์จึงย้ายไปอยู่ อำเภอพระโขนง ขณะนั้นโจทก์ท้องได้ 4 – 5 เดือน แต่จำเลยไม่ได้ตามไป ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2508โจทก์คลอดบุตรเป็นชาย คือเด็กชายวีรพล เบี้ยวโต โจทก์ไปแจ้งขอออกสูติบัตรลงชื่อจำเลยเป็นบิดา เมื่อโจทก์นำเด็กชายวีรพลไปเข้าโรงเรียนก็ลงชื่อตามสูติบัตรนอกจากตัวโจทก์แล้ว โจทก์ยังมีนายมั่ง หอมศิริ บิดาโจทก์ และนางบุญทิ้งหอมศิริ พี่สะใภ้โจทก์ ซึ่งอยู่บ้านเดียวกับโจทก์มาเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์จำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวมาแต่ พ.ศ. 2506 ในปี พ.ศ. 2507 พยานทั้งสองจับได้ว่าโจทก์จำเลยอยู่ด้วยกันในห้องนอนของโจทก์ในเวลาค่ำคืนและดับไฟ จำเลยยอมรับผิดและยอมเลี้ยงดูโจทก์เป็นภรรยา และจะไปจดทะเบียนสมรสให้โจทก์ จำเลยเบิกความเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ว่าในระยะเกิดเหตุโจทก์มาหาจำเลยที่บ้านให้สอนเลขคณิตให้อาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง จนนางสำรวยเจ้าของบ้านที่จำเลยอาศัยได้ตักเตือนจำเลยว่าอย่าสนิทสนมกับโจทก์มาก เพราะชาวบ้านจะมองในแง่ไม่ดี จนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2507ค่ำวันหนึ่งเวลาประมาณ 19 นาฬิกา โจทก์ได้เรียกจำเลยไปที่บ้านให้สอนเลขคณิตให้ จำเลยขึ้นไปนั่งบนระเบียงบ้านโจทก์ติดกับบันไดสอนเลขคณิตให้โจทก์ได้ประมาณ 15 นาที นายมั่งบิดาโจทก์กลับมาจากข้างนอก นายมั่งดุโจทก์ว่าคบผู้ชาย อยากจะมีสามี จนมีเสียงร้องเอะอะ ขณะนั้นพี่สะใภ้โจทก์ได้ยินเสียงเอะอะจึงขึ้นมาดู ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าโจทก์ลักลอบได้เสียกับจำเลยมาก่อนหลายครั้งโดยไม่มีผู้ใดรู้เห็น จนต่อมานายมั่งบิดาโจทก์และนางบุญทิ้งพี่สะใภ้โจทก์จับได้ว่าโจทก์จำเลยลักลอบได้เสียกัน ส่วนในข้อที่ว่าหลังจากนายมั่งและนางบุญทิ้งจับได้ว่าโจทก์จำเลยลักลอบได้เสียกัน จำเลยได้มาอยู่กินกับโจทก์ที่บ้านโจทก์อย่างเปิดเผยเป็นระยะเวลา 4 – 5 เดือนก่อนโจทก์ย้ายไปอยู่อำเภอพระโขนง ดังที่โจทก์เบิกความหรือไม่นั้น นายมั่งเบิกความว่า เมื่อจับได้ว่าโจทก์จำเลยได้เสียกัน จำเลยยอมรับผิดและยอมรับเลี้ยงดูโจทก์เป็นภรรยาและจะไปจดทะเบียนสมรสให้ หลังจากวันนั้นจำเลยก็ไปมาหาสู่โจทก์โดยบางวันก็ค้างคืน บางวันก็ไม่ค้างคืน ส่วนนางบุญทิ้งเบิกความว่าหลังจากวันนั้นแล้วจำเลยก็ไปมาหาสู่โจทก์อยู่เรื่อย ๆ เพราะบ้านอยู่ติดกันและเคยเห็นจำเลยค้างที่บ้านโจทก์ ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นความจริง โดยนางสำรวย ชาตรีกำแหง เจ้าของบ้านที่จำเลยอาศัยอยู่เบิกความว่า เมื่อโจทก์ย้ายไปอยู่อำเภอพระโขนงได้ 6 – 7 เดือน มารดาโจทก์เคยไปสอบถามหาจำเลยที่บ้านพยานเกี่ยวกับเรื่องจำเลยจะจัดงานศพบิดาจำเลย ซึ่งจำเลยก็เบิกความรับว่าได้จัดงานศพบิดาแสดงว่าแม้จำเลยจะได้เสียกับโจทก์แล้วบิดามารดาโจทก์ก็ได้ยอมให้จำเลยมาอยู่กินกับโจทก์ จึงมีความสัมพันธ์กันอยู่ มิฉะนั้นแล้วเหตุใดมารดาโจทก์ยังจะมีเยื่อใยติดตามถามข่าวคราวในความทุกข์ความเดือดร้อนในเรื่องส่วนตัวของจำเลยอยู่ ที่จำเลยนำสืบว่าหลังจากคืนเกิดเหตุแล้วจำเลยไม่เคยไปบ้านโจทก์อีกไม่น่าเชื่อ นางสำรวยพยานจำเลยเบิกความมีพิรุธ โดยเบิกความว่าไม่เคยเห็นจำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์แม้แต่ครั้งเดียว เพราะอย่างน้อยในวันที่จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์แล้วเกิดเหตุนั้นนางสำรวยน่าจะต้องรู้เรื่อง การที่จำเลยไม่ได้ตามไปอยู่กับโจทก์ที่ย้ายบ้านไปอยู่อำเภอพระโขนง ก็เป็นเรื่องจำเลยเปลี่ยนใจในภายหลังไม่ประสงค์จะอยู่กินกับโจทก์ฉันสามีภรรยาต่อไปอีกทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับชายอื่น นายแพทย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตรวจพิสูจน์เด็กชายวีรพลเบี้ยวโต โจทก์และจำเลยเพื่อหาความสัมพันธ์ทางสายเลือดและทางกายภาพตามที่ศาลตั้ง ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า ลักษณะหมู่เลือดเข้ากันได้ทุกหมู่ที่ตรวจ ไม่มีหมู่ใดปฏิเสธความเป็นบิดามารดา ทางกายภาพเด็กชายวีรพลเบี้ยวโต มีความละม้ายคล้ายคลึงกับจำเลย ลงความเห็นว่าจำเลยน่าจะเป็นบิดาเด็กชายวีรพล เบี้ยวโต ตามรายงานการพิสูจน์เอกสารหมาย จ.3 จึงประกอบให้น่าเชื่อว่าเด็กชายวีรพล เบี้ยวโต เป็นบุตรโจทก์เกิดกับจำเลย ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าศาลไม่ควรรับฟังความเห็นของนายแพทย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะนายแพทย์ผู้ทำการตรวจพิสูจน์ มิได้มาเบิกความต่อศาลนั้น เห็นว่า ในคดีแพ่งผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งทำความเห็นเป็นหนังสือ แม้ไม่ได้มาเบิกความต่อศาล ศาลก็รับฟังความเห็นนั้นประกอบการพิจารณาได้

สรุปแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกันมาก่อน ในปี พ.ศ. 2507 โจทก์จำเลยลักลอบได้เสียกันหลายครั้ง ต่อมาบิดาโจทก์จับได้ว่าโจทก์จำเลยลักลอบได้เสียกัน จำเลยยอมรับผิดและยอมรับเลี้ยงดูโจทก์เป็นภรรยา หลังจากนั้นจำเลยได้มาอยู่กินกับโจทก์อย่างเปิดเผยที่บ้านโจทก์เป็นเวลา 4 – 5 เดือน โจทก์ตั้งครรภ์ในระหว่างนั้นและคลอดบุตรออกมาเป็นผู้ชาย คือเด็กชายวีรพล เบี้ยวโต ซึ่งเกิดกับจำเลย เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2508 จึงเป็นเหตุที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยรับรองบุตรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529(4) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้น”

พิพากษายืน

Share