แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ระบุตัวบุคคลที่จะถูกฟ้องในช่องชื่อคู่ความกับที่บรรยายว่าขอยื่นฟ้องผู้ใดขัดกันเอง ทั้งการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องมาในอุทธรณ์โดยขอเพิ่มกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเป็นจำเลยในคดีอีกคนหนึ่งไม่ใช่การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย และเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่ศาลทรัพย์สินฯ มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องแล้ว ล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 180
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้ยกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสามเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้แทนของกรม และเป็นผู้ที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจพิจารณาและออกคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับสิทธิบัตร จำเลยทั้งสามจึงไม่ใช่ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการพิจารณายกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 74 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งชอบที่ศาลทรัพย์สินฯ จะมีคำสั่งยกฟ้อง การที่ศาลทรัพย์สินฯ เพียงแต่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง อันเป็นการสั่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 18 จึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้มีคำสั่งรับคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 0801001954 ไว้เพื่อดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ต่อไป
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 74 คณะกรรมการสิทธิบัตรได้มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะลงชื่อในหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ทราบ แต่ก็ไม่ใช่บุคคลที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่ชอบ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คืนค่าธรรมเนียมทั้งหมด จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิขอแก้ฟ้องเพิ่มกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเป็นจำเลยในชั้นอุทธรณ์ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ระบุชื่อจำเลยในช่องคู่ความว่า “อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากับพวกรวม 3 คน” แต่บรรยายฟ้องว่า ขอยื่นฟ้อง (1) นายเสกสันต์ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (2) นางสาวอุมากรณ์ หัวหน้ากลุ่มนักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรชำนาญการพิเศษ (3) นางละออง นักวิชาการตรวจสอบชำนาญการ เป็นจำเลยรวม 3 คน จึงเป็นการระบุตัวบุคคลที่จะถูกฟ้องขัดกันเอง ทั้งการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องมาในอุทธรณ์โดยขอเพิ่มจำเลยเข้ามาในคดีอีกหนึ่งคนนั้นไม่ใช่การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย และเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเพิ่มกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเป็นจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมาว่า คำสั่งไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้วหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์คือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพราะเป็นผู้ที่ทำให้มีการออกคำสั่งยกคำร้องขอรับสิทธิบัตรของโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นผู้แทนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและเป็นผู้ที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจในการพิจารณาและออกคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับสิทธิบัตรนอกจากนี้พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้บัญญัติขั้นตอนในการใช้สิทธิทางศาลไว้ โดยในมาตรา 28 ว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสนอรายงานการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรต่ออธิบดีแล้ว (1) ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ถูกต้องตามมาตรา 17 หรือการประดิษฐ์นั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรนั้น และในมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีตามมาตรา 28 ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตราดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดี และตามมาตรา 74 บัญญัติให้คู่กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิบัตรตามมาตรา 72 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ลงนามในคำสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์แล้ว โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร และคณะกรรมการดังกล่าวมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว คดีนี้โจทก์จึงชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการสิทธิบัตรต่อศาล โดยการนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการดังกล่าวตามบทบัญญัติในมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้เป็นคณะกรรมการสิทธิบัตร โดยจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ลงนามในคำสั่งให้ยกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่ใช่ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว ก็ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพียงแต่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์อันเป็นการมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนอุทธรณ์ในข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเนื่องจากไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง ไม่คืนค่าขึ้นศาลในชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ