คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้เนื่องจากทรัพย์สินที่ยึดมีภาระหนี้จำนองไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองอันเกิดจากการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ให้ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 เพื่อการใช้สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องและมีคำขอตอนท้าย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ตกเป็นของบุตรทั้งสี่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะโจทก์ได้เลือกใช้สิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 9 แล้ว จึงไม่อาจย้อนกลับมาบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ได้อีก แต่คำฟ้องและคำขอบังคับถือเป็นคนละส่วนกัน ไม่มีผลทำให้คำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ในตอนแรกที่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบต้องเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7223, 55235 และ 55236 ตำบลช่องสะแก (น่าพะลาน) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่บุตรทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ขอสละคำให้การและไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องหย่าโจทก์คดีนี้ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลยแดงที่ 79/2554 โดยโจทก์ให้การต่อสู้และฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรส เรียกค่าเลี้ยงดูและค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าว และศาลพิพากษาตามยอมตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7223, 55235 และ 55236 ตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ตามที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงจะยกให้แก่บุตรทั้งสี่โดยปลอดจำนองไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสำเนาโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาขายที่ดิน ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6362 ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 7281 และ 13011 ตำบลท่าราบ (น่าพะลาน) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อนำออกขายทอดตลาด ตามสำเนารายงานการยึดทรัพย์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 79/2554 ของศาลชั้นต้นและศาลพิพากษาตามยอม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ข้อ 4 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 โดยมีข้อตกลงใน ข้อ 9 ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในข้อใดข้อหนึ่งยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีตามจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องแย้งจำนวน 15,000,000 บาท ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 จำเลยที่ 1 ตกลงยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้นางสาว ก. นางสาว ร. นาย อ. และเด็กชาย ว. ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาททั้งสามแปลงไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตและเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 9 และฟ้องคดีนี้ ซึ่งคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ เนื่องจากทรัพย์สินที่ยึดมีภาระหนี้จำนองไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตเป็นการฉ้อฉลโจทก์ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองอันเกิดจากการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 เพื่อการใช้สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องและมีคำขอตอนท้าย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ตกเป็นของบุตรทั้งสี่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะโจทก์ได้เลือกใช้สิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 9 แล้ว จึงไม่อาจย้อนกลับมาบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ได้อีกตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยก็ตาม แต่คำฟ้องและคำขอบังคับดังกล่าวถือเป็นคนละส่วนกัน ไม่มีผลทำให้คำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ในตอนแรกที่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบต้องเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share