คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 450/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในหนังสือที่จำเลยอ้างจะมีข้อความว่าเป็นใบแทนพินัยกรรมก็ดี แต่ข้อความที่บรรยายไว้ ผู้ทำหาได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพยสินเพื่อให้มีผลบังคับเมื่อตนตายอย่างไรไม่ ฉะนั้นจึงไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 คงมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หาเท่านั้น เมื่อไม่ได้จดทะเบียนจึงไม่สมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินโฉนดที่ 3235 และ 8525 อำเภอเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี อ้างว่าเป็นที่ดินมรดกของนายถม นางตาซึ่งเป็นตายายโจทก์โดยขอรับแทนที่นางบุญรอดมารดาโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนายถม นางตา ฯลฯ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ที่ 6 และจำเลยที่ 4 ไม่คัดค้านในการแบ่ง

ส่วนจำเลยที่ 3 ต่อสู้เฉพาะที่ดินโฉนดที่ 7235 ว่าไม่ใช่มรดกของนายถมนางตา ๆ ได้ทำหนังสือยกกรรมสิทธิ์ให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2463 และพี่ชายจำเลยได้ครอบครองแทนมาจนบัดนี้คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นเห็นว่าเอกสารที่จำเลยที่ 3 อ้างมาไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรม และฟังว่าที่ดินโฉนดที่ 7235 ยังเป็นมรดกของนายถมนางตาอยู่ พิพากษาให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ 7235 และโฉนดที่ 8525 ออกเป็น 5 ส่วนให้โจทก์ได้รับ 1 ส่วน ฯลฯ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารที่จำเลยอ้างว่าเป็นพินัยกรรมนั้น มีข้อความว่า “ใบแทนหนังสือพินัยกรรม วันที่ 16 ม.ค. 2463 ข้าพเจ้านายถมนางตาได้ทำขึ้นไว้ต่อหน้า นายถา นางบุญรอด พระกรอง สุธาวงษ์ด้วยข้าพเจ้านายถม นางตายกที่ดินหมายเลขโฉนดที่ 7235 หนึ่งแปลงยกให้นายเหลือ สาธุวงษ์ บุตรชายของนายถม นางตาเป็นกรรมสิทธิ์แล้วลงชื่อผู้ให้ ผู้รับ และพยานนั้น แม้หนังสือฉบับนี้จะบอกได้ว่าใบแทนพินัยกรรมก็ดี แต่ข้อความที่บรรยายไว้ผู้ทำหาได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินเพื่อให้มีผลบังคับเมื่อตนตายอย่างไรไม่ฉะนั้นจึงไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และคดีไม่เหมือนกับคำพิพากษาฎีกาที่ 816/2496 ที่จำเลยอ้างมา เห็นว่าหนังสือดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา ทำหนังสือกันเองมิได้จดทะเบียนย่อมใช้ไม่ได้และคดีได้ความว่าภายหลังเจ้ามรดกตายแล้วโจทก์ได้ใช้อำนาจครอบครองร่วมกับทายาทตลอดมา คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

Share