แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ โดยบรรยายรายละเอียดของเช็คพิพาท และแนบสำเนาภาพถ่ายเช็คพิพาทและใบคืนเช็คมาท้ายฟ้อง พร้อมทั้งคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยมาครบถ้วน จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว
จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ เพื่อแลกเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่ออกเช็คได้เอง โจทก์จึงมีสิทธิลงวันที่ในเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับได้ เมื่อโจทก์ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 ในเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1002 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้ในวันที่ 2 สิงหาคม 2548 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900, 914 ประกอบมาตรา 989
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (วันที่ 12 กรกฎาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โดยได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลจำนวนกึ่งหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นแรกตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ โดยบรรยายรายละเอียดของเช็คพิพาท และแนบสำเนาภาพถ่ายเช็คพิพาทและใบคืนเช็คมาท้ายฟ้องพร้อมทั้งคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยมาครบถ้วน จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ มาแลกเงินสดไปจากโจทก์ตั้งแต่วันเวลาใด จำเลยได้รับเงินสดไปจากโจทก์จำนวนเท่าใด โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราเท่าใด ครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเมื่อใด โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อใดนั้น ล้วนเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาจำเป็นต้องกล่าวไว้ในฟ้องไม่ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าเมื่อประมาณปี 2536 ถึง 2537 โจทก์และจำเลยได้ตั้งวงแชร์โดยมีจำเลยเป็นนายวงแชร์ ส่วนโจทก์เป็นลูกวงแชร์คนหนึ่ง ต่อมาในปี 2537 วงแชร์ล้มจำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ ให้โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ค่าแชร์และไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ โดยจำเลยมิได้ยินยอมให้โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายได้เอง โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 10 ปี นับจากวันที่วงแชร์ล้ม แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเช็คพิพาทได้เองทั้ง 3 ฉบับ และนำไปเรียกเก็บเงินได้ ซึ่งโจทก์มีเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ มีลายมือชื่อของจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายมาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ ทั้งจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าได้ออกเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ ให้โจทก์ เพื่อเป็นเพียงประกันหนี้ค่าแชร์เป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เนื่องจากไม่มีพยานอื่นใดมาสนับสนุน พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ เพื่อแลกเงินสดไปจากโจทก์ และการที่จำเลยมอบเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ ให้โจทก์ไปโดยจำเลยไม่ลงวันที่ออกเช็คนั้น ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่ออกเช็คได้เอง โจทก์จึงมีสิทธิลงวันที่ในเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ ได้ เมื่อโจทก์ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 ในเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบอายุความในวันที่ 11 กรกฎาคม 2549 เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้ในวันที่ 2 สิงหาคม 2548 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดตามเช็คหรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่าเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ เป็นเช็คที่จำเลยในฐานะนายวงแชร์ออกให้โจทก์ในฐานะลูกวงแชร์ เพื่อค้ำประกันวงแชร์ไม่ได้นำไปแลกเงินสดกับโจทก์ โจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกวงแชร์ครบถ้วนแล้ว เช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ จึงไม่มีมูลหนี้ต่อกันนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เป็นข้อนำสืบที่เลื่อนลอยดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ เพื่อแลกเงินสดกับโจทก์ จึงเป็นการออกเช็คโดยมีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900, 914 ประกอบมาตรา 989 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ