คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย แห่งชาติได้มีประกาศรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2534 ให้เลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสมาชิกสภาเทศบาล และกรรมการสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรออกไปโดยไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ให้คณะผู้บริหารชุดเดิมยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และในกรณีที่มีตำแหน่งว่าง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นดำรงตำแหน่งแทน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลผู้มีชื่อจำนวน 9 คน ให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสุขาภิบาลป่าตองที่จะมาจากการเลือกตั้งตามมาตรา 7(4) แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 แล้ว ดังนี้ ประกาศจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2533 เรื่องให้เลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลป่าตองเนื่องจากกรรมการสุขาภิบาลป่าตองที่มาจากการเลือกตั้งเดิมได้ออกตามวาระจึงถือว่ายกเลิกไปตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 19 แม้ต่อมาจะมี พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศดังกล่าว ก็หาทำให้การสมัครรับเลือกตั้งตามประกาศจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2533 กลับมีผลขึ้นอีกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลป่าตอง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2533จังหวัดภูเก็ตได้มีประกาศเรื่องให้เลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลป่าตองเนื่องจากกรรมการสุขาภิบาลป่าตองที่มาจากการเลือกตั้งเดิมได้ออกตามวาระตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495โดยกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 17-31 มกราคม 2534 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคม 2534 โจทก์ได้เข้าสมัครรับเลือกตั้งด้วยและได้รับหมายเลขประจำตัวหมายเลข 2 ต่อมาวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจพร้อมกับมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 19 ให้เลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสมาชิกสภาเทศบาล และกรรมการสุขาภิบาลออกไปโดยไม่มีกำหนดหลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลผู้มีชื่อจำนวน 9 คน ให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสุขาภิบาลป่าตองที่จะมาจากการเลือกตั้งตามมาตรา 7(4) แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ได้มีพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 7 ฉบับที่ 19 และฉบับที่ 20 โดยมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวบัญญัติให้มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสภาเทศบาลและกรรมการสุขาภิบาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีประกาศสุขาภิบาลป่าตองเรื่อง การรับสมัครเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลป่าตอง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2534 ให้มีการรับสมัครตั้งแต่วันที่11-25 มิถุนายน 2534 มีผู้เข้าสมัครรับเลือกตั้งจำนวน 29 คน โดยจำเลยที่ 1 มิได้จัดให้ผู้ที่ได้รับสมัครไว้โดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่17-31 มกราคม 2534 เข้าทำการรับเลือกตั้งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการไม่ชอบ เพราะประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 19 เพียงให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเท่านั้น และพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้ยกเลิกการรับสมัครรับเลือกตั้งที่มีมาก่อนแล้วโดยชอบแต่อย่างใด ในระหว่างที่จำเลยทั้งสองออกประกาศรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 11-25 มิถุนายน 2534 นั้นโจทก์ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อโจทก์กลับมาและสอบถามจำเลยทั้งสองแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งแล้วเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่า ประกาศสุขาภิบาลป่าตองเรื่อง การรับสมัครเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลป่าตอง ลงวันที่ 30พฤษภาคม 2534 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 11-25 มิถุนายน 2534 เป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองจัดให้โจทก์กับผู้สมัครรับเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 17-31 มกราคม 2534 เข้าทำการรับเลือกตั้งต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 19 ให้เลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสมาชิกสภาเทศบาลและกรรมการสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรออกไปโดยไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ให้คณะผู้บริหารชุดเดิมยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและในกรณีที่มีตำแหน่งว่าง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ได้ความจากฟ้องโจทก์ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลผู้มีชื่อจำนวน 9 คน ให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสุขาภิบาลป่าตองที่จะมาจากการเลือกตั้งตามมาตรา 7(4) แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 แล้ว ดังนี้ประกาศจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2533 เรื่อง ให้เลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลป่าตอง เนื่องจากกรรมการสุขาภิบาลป่าตองที่มาจากการเลือกตั้งเดิมได้ออกตามวาระ โดยกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 17-31 มกราคม 2534 และโจทก์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้หนึ่งได้รับหมายเลขประจำตัว หมายเลข 2 จึงถือว่ายกเลิกไปตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 19ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 แล้ว แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 7ฉบับที่ 19 และฉบับที่ 20 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้กระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นแทนผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้โดยผลของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 19ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับก็ตาม ได้ความจากฟ้องโจทก์ต่อไปว่าจำเลยทั้งสองได้มีประกาศสุขาภิบาลป่าตองเรื่อง การรับสมัครเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลป่าตอง ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2534 โดยกำหนดการรับสมัครรับเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลป่าตองวันที่ 11-25มิถุนายน 2534 ดังนี้ ประกาศสุขาภิบาลป่าตองเรื่องการรับสมัครเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลป่าตอง ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2534 ซึ่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายมีผลบังคับได้ ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share