คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4473/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง แต่โจทก์มีส.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบกิจการขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัย แต่ตามคำเบิกความของ ส.พยานโจทก์ไม่ได้ความว่าทราบความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ตามที่เบิกความมาในทางใด เป็นเพียงแต่เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน แม้แต่ร้อยตำรวจโทจ.พยานโจทก์อีกปากหนึ่งผู้สอบสวนและผู้รับแจ้งเหตุคดีนี้ก็มิได้เบิกความถึงเรื่องนี้เลยดังนั้นข้อนำสืบของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและได้กระทำการในทางที่จ้างของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา รวมทั้งจำเลยที่ 3 ซึ่งยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ แต่จำเลยที่ 3 มิได้นำสืบพยานก็ตาม แต่โจทก์จะชนะคดีก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่า ข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์จึงมี หน้าที่นำสืบให้ฟังได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิด ต่อโจทก์ แต่โจทก์นำสืบไม่สมฟ้องจึงไม่อาจชนะคดีได้ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และเมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอา ประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานผู้รับประกันภัย ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 3 ฎีกาฝ่ายเดียวศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ขับรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ท-2474 กรุงเทพมหานครซึ่งโจทก์ครอบครอง และนายสมชาย แสงเงิน เป็นผู้เช่าขับพร้อมผู้โดยสาร ขณะจอดอยู่บนถนนราษฎร์อุทิศตัดกับถนนสุวินทวงศ์เป็นเหตุให้รถยนต์โจทก์เสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน252,451 บาท ต้องขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าอัตราวันละ 860 บาท เป็นเวลา 73 วัน เป็นเงิน 62,780 บาทและทำให้รถเสื่อมราคาลงจำนวน 50,000 บาท จำเลยที่ 3ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 382,902 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายประมาทและมิได้เป็นลูกจ้างหรือกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 212,610 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 187,500 บาทนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 25,110 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 212,610 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 187,500 บาท นับแต่วันทำละเมิดและอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 25,110 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-3644 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 โดยประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ท-2474 กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในความครอบครองโจทก์ได้รับความเสียหาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3ว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใดโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง ปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายสมศักดิ์ กุลมาโนชวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ซึ่งประกอบกิจการขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-3644 กรุงเทพมหานคร จะต้องร่วมรับผิดด้วยได้พิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้แล้ว เห็นว่า เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ตามคำเบิกความของพยานไม่ได้ความว่าทราบความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามที่เบิกความมาในทางใด เป็นเพียงแต่เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน แม้แต่ร้อยตำรวจโทจิรศักดิ์ ไกรเพชร พยานโจทก์อีกปากหนึ่งผู้สอบสวนและผู้รับแจ้งเหตุ คดีนี้ก็มิได้เบิกความถึงเรื่องนี้เลย ข้อนำสืบของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้าง และได้กระทำการในทางที่จ้างของจำเลยที่ 2แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณารวมทั้งจำเลยที่ 3 มิได้นำสืบพยานก็ตามแต่โจทก์จะชนะคดีก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์เช่นว่านั้นมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ความว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-3644 กรุงเทพมหานคร เป็นลูกจ้างและได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ เมื่อโจทก์นำสืบไม่สมฟ้องจึงไม่อาจชนะคดีได้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานผู้รับประกันภัยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประเด็นอื่นอีกต่อไป แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 2ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ยกฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share