คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4470/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวดเดียวกับมาตรา 27 ทวิ และมาตรา 37 ตรี ซึ่งเป็นหมวดต่อเนื่องกัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับโทษว่า “สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” ส่วนมาตรา 37 ตรี บัญญัติเกี่ยวกับโทษไว้ว่า “ถ้านายเรือหรือบุคคลใดฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาของหรือปรับเป็นเงินห้าหมื่นบาท แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 27 ทวิ บัญญัติไว้ “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ? หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายระบุเน้นชัดไว้แล้วว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วย และปรับสองเท่าของราคาของ ตามมาตรา 27 ทวิ และ 37 ตรีตามลำดับ หากศาลจะปรับจำเลยแต่ละคน คนละสี่เท่า และสองเท่า ตามกฎหมายดังกล่าวก็จะเป็นการปรับเกินกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร ฯ ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับกฎหมายอื่น ให้ยกเอาพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับ จึงนำบทบัญญัติมาตรา 31 แห่ง ป.อ. ที่ให้ศาลปรับเรียงตามรายตัวบุคคลมาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๒๗ ทวิ, ๓๒, ,๓๗ ตรี พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๒๕ ตรี พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔, ๖, ๑๑, ๒๒, ๒๓ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๓, ๒๗๗, ๒๘๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔, ๕, ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ริบของกลาง ส่วนเครื่องวิทยุคมนาคมให้ริบไว้เพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้แยกฟ้องต่างหาก
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๒๕ ตรี (ที่ถูก มาตรา ๒๕ ตรี วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓) ?
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓๗ ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ?
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓๗ ตรี เป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษ จำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ มิได้ใช้ถ้อยคำว่า ร่วมกันริบผิดปรับไม่เกินสองเท่า หรือปรับไม่เกินสี่เท่า การลงโทษจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑ นั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวดเดียวกับมาตรา ๒๗ ทวิ และ มาตรา ๓๗ ตรี ซึ่งเป็นหมวดต่อเนื่องกัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับโทษว่า “สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” ส่วนมาตรา ๓๗ ตรี บัญญัติเกี่ยวกับโทษว่า “ถ้านายเรือหรือบุคคลใด่ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาของหรือปรับเป็นเงินห้าหมื่นบาทแล้ว แต่จำนวนใดจะมากกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา ๒๗ ทวิ บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย? หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรหรือข้อจำกัด มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินห้าปีหรือทั้งปรับทั้งจำ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายระบุเน้นชัดไว้แล้วว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของ ซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยกัน และปรับสองเท่าของราคาของ ตามมาตรา ๒๗ ทวิ และ ๓๗ ตรี ตามลำดับ ดังนั้น หากศาลจะปรับจำเลยแต่ละคน คนละสี่เท่า และสองเท่า ตามกฎหมายดังกล่าวก็จะเป็นการปรับเกินกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และมาตรา ๑๒๐ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับกฎหมายอื่น ให้ยกเอาพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับ จึงนำบทบัญญัติ มาตรา ๓๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาบังคับไม่ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาชอบแล้ว ฎีกา ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share