คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4470/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานกับบริษัทจำเลยนายจ้างข้อ 2 มีข้อความว่า บริษัทฯ ตกลงรับพนักงานเข้าปฏิบัติงานเป็นการทดลองงาน เป็นระยะเวลา 180 วัน ในระหว่างทดลองงานบริษัทฯจะให้การอบรมเกี่ยวกับหน้าที่การงาน… ฯลฯ … ข้อ 4 มีข้อความว่าในกรณีที่พนักงานผ่านการอบรมครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวและบริษัทฯ เห็นควรว่าจ้างพนักงานต่อไป บริษัทฯ ตกลงว่าจ้างให้พนักงานเป็นพนักงานประจำของบริษัทฯ… ข้อ 5 มีข้อความว่าในกรณีบริษัทฯ ตกลงว่าจ้างพนักงานตามข้อ 4 แล้วพนักงานสัญญาว่าจะทำงานให้แก่บริษัทฯ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันครบกำหนดการทดลองงาน… และข้อ 16 มีข้อความว่า เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติงานของพนักงานตามสัญญานี้ พนักงานได้วางเงินประกันการทำงานไว้แก่บริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531 ถ้าพนักงานมีความประสงค์ที่จะลาออกและได้ทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปีแล้ว ทางบริษัทฯ จะคืนเงินประกันจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยธนาคารให้ ข้อสัญญาดังกล่าวย่อมมีความหมายว่า พนักงานที่จำเลยจะคืนเงินประกันเมื่อพนักงานผู้นั้นลาออกตามสัญญาข้อ 16 หมายถึงพนักงานที่จำเลยได้ตกลงว่าจ้างให้เป็นพนักงานประจำของจำเลยตามสัญญาข้อ 4, 5 ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเพียงพนักงานที่จำเลยตกลงว่าจ้างให้ปฏิบัติงานเป็นการทดลองงานขอลาออกจากงานในระหว่างทดลองงาน จึงไม่เป็นการผิดสัญญาจ้างจำเลยจะอ้างเป็นเหตุไม่คืนเงินประกันให้แก่โจทก์ไม่ได้
การตีความสัญญานั้นต้องพิจารณาข้อความในสัญญาทั้งฉบับ จะหยิบยกแต่เฉพาะข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือเพียงบางข้อขึ้นวินิจฉัยหาเป็นกาถูกต้องไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาโจทก์ลาออกจากงานโดยไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่จำเลย โจทก์มีสิทธิได้รับเงินประกันในการทำงานของโจทก์ที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์เมื่อเริ่มเข้าทำงานกับจำเลยคืนแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยคืนเงินประกัน จำนวน ๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าโจทก์จะต้องทำงานอยู่กับจำเลยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปี หากโจทก์ลาออกก่อนโจทก์ก็ไม่มีสิทธิรับเงินประกันคืนจากจำเลย แต่โจทก์ขอลาออกจากงานก่อนครบกำหนดการทดลองงานและก่อนครบกำหนด ๓ ปี โจทก์ไม่อาจเรียกเงินประกันจำนวน ๕,๐๐๐ บาท คืนจากจำเลย โจทก์เป็นหญิงมีสามีฟ้องคดีเกี่ยวกับสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมของสามี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินประกันตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลย เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องทำโดยเฉพาะตัวไม่เกี่ยวกับสินสมรส โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ขอลาออกจากงานในระหว่างทดลองงาน จำเลยจะริบเงินประกันหรือเรียกค่าเสียหายตามสัญญาไม่ได้พิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน ๕,๐๐๐ บาท ให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์ลาออกจากงานขณะที่โจทก์ทำงานยังไม่ครบ ๓ ปี จำเลยไม่ต้องคืนประกันให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจ้าง เอกสารหมาย ล.๑ ข้อ ๑๖ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดตามสัญญาจ้างดังกล่าวข้อ ๕ ไม่ใช้แก่กรณีของโจทก์ จำเลยจะริบเงินประกันตามสัญญาไม่ได้เป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท พิเคราะห์แล้วตามสัญญาจ้างข้อ ๑๖ มีข้อความว่า “เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติงานของพนักงานตามสัญญานี้ พนักงานได้วางเงินประกันการทำงานไว้กับบริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ ถ้าพนักงานมีความประสงค์ที่จะลาออกและได้ทำงานไม่น้อยกว่า ๓ ปีแล้ว ทางบริษัทฯ จะคืนเงินประกันจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยธนาคารให้” คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ขอลาออกจากงานในระหว่างทดลองงาน ซึ่งตามสัญญาจ้าง ข้อ ๒ มีข้อความว่า “บริษัทตกลงรับพนักงานเข้าปฏิบัติงานเป็นการทดลองงาน เป็นระยะเวลา ๑๘๐ วัน ในระหว่างทดลองงานบริษัทฯ จะให้การอบรมเกี่ยวกับหน้าที่การงาน การทำงานเกี่ยวกับการให้บริการการลดน้ำหนัก การจำหน่ายสินค้าในการลดน้ำหนัก ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานโดยทั่วไป และเฉพาะงานที่บริษัทฯกำหนดให้แก่พนักงานโดยไม่คิดมูลค่า…” สัญญาจ้างข้อ ๔ มีข้อความว่า “ในกรณีที่พนักงานผ่านการอบรมครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว และบริษัทฯ เห็นควรว่าจ้างพนักงานต่อไป บริษัทฯ ตกลงว่าจ้างให้พนักงานเป็นพนักงานประจำของบริษัท…” และสัญญาจ้างข้อ ๕ มีข้อความว่า”ในกรณีบริษัทฯตกลงว่าจ้างพนักงานตามข้อ ๔ แล้วพนักงานสัญญาว่าจะทำงานให้แก่บริษัทฯ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปี นับแต่วันวันครบกำหนดการทดลองงาน…” จากสัญญาจ้างข้อ ๒, ๔, ๕ และ ๑๖ เห็นได้ว่า พนักงานที่จำเลยจะคืนเงินประกันเมื่อพนักงานผู้นั้นขอลาออกจากการงานและได้ทำงานไม่น้อยกว่า ๓ ปีแล้ว ตามสัญญาข้อ ๑๖ หมายความถึงพนักงานที่จำเลยได้ตกลงว่าจ้างให้เป็นพนักงานประจำของจำเลยตามสัญญาจ้างข้อ ๔, ๕ แต่โจทก์เป็นเพียงพนักงานที่จำเลยตกลงจ้างเข้าปฏิบัติงานเป็นการทดลองงานเป็นระยะเวลา ๑๘๐ วัน โดยที่จำเลยยังมิได้ตกลงว่าจ้างให้เป็นพนักงานประจำ เมื่อโจทก์ขอลาออกจากงานในระหว่างทดลองงาน จึงไม่เป็นการผิดสัญญาจ้างข้อ ๕ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างข้อ ๕ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ต้องคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างข้อ ๑๖ ไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าตามสัญญาจ้างข้อ ๕ ไม่ใช้แก่กรณีของโจทก์ จำเลยจะริบเงินประกันไม่ได้นั้น จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด เพราะการตีความสัญญานั้น ต้องพิจารณาข้อความในสัญญาทั้งฉบับ จะหยิบยกแต่เฉพาะข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือเพียงบางข้อขั้นวินิจฉัยหาถูกต้องไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share