แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงื่อนไขข้อบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งกำหนดไว้สำหรับการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่ว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์ โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งหมายความว่านอกจากความรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นแล้ว จำเลยที่ 3 ยังยอมรับผิดในกรณีผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ทำละเมิด แต่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้ โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในการที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 112,110 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7,707 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 119,817 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 112,110 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายไปก่อนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 56,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันกระทำละเมิด (วันที่ 6 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 84 – 2406 นครปฐม ซึ่งได้ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวด้วยความประมาทเกี่ยวโดนสายเคเบิลโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ที่พาดแขวนยึดติดกับเสาไฟฟ้า ซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จำเลยที่ 3 จะเข้าใจในคำฟ้องและต่อสู้คดีได้ ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยหรือไม่ เห็นว่า แม้บริษัทพันธุ์กาญจน์ จำกัด เป็นผู้เอาประกันรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่ตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ของนายสุทิน บริษัทพันธุ์กาญจน์ จำกัด และจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 2 ได้นำจำเลยที่ 1 ไปพบเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้เปรียบเทียบปรับ ส่วนค่าเสียหายให้โจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว เห็นชัดว่าเป็นการที่จำเลยที่ 2 แสดงออกซึ่งความรับผิดต่อโจทก์ โดยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ โดยให้โจทก์เรียกเอาจากจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว เสมือนหนึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเอง จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 และบริษัทพันธุ์กาญจน์ จำกัด มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการ โดยตกลงกันให้บริษัทพันธุ์กาญจน์ จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว มิฉะนั้นแล้ว จำเลยที่ 3 คงไม่รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจากบริษัทพันธุ์กาญจน์ จำกัด ซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแต่อย่างใด ถือได้ว่า บริษัทพันธุ์กาญจน์ จำกัด ยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว กรณีจึงเข้าเงื่อนไขข้อบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว หมวด 2 ข้อ 2.6 ซึ่งกำหนดไว้สำหรับการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่ว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์ โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งหมายความว่านอกจากความรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นแล้ว จำเลยที่ 3 ยังยอมรับผิดในกรณีผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ทำละเมิด แต่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้ โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในการที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ