แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตรนอกกฎหมายซึ่งมีหลักฐานฟังได้ว่า บิดาได้รับรองว่าเป็นบุตรนั้นมีสิทธิรับมรดกของบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางเหรียญโจทก์เป็นภริยา ล. มาประมาณ 15 ปีเกิดบุตร 2 คนคือเด็กชายฉลอง และเด็กชายหยี่ โจทก์ ล. วายชนม์มีที่นามรดก จำเลยที่ 1 เคยเป็นความกับโจทก์เรื่องนารายนี้ แล้วทำยอมว่าไม่เกี่ยวข้อง โจทก์ไปขอรังวัดออกโฉนด จำเลยที่ 2 ได้คัดค้าน มีคำขอท้ายฟ้องว่า ขอศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นทายาทโดยชอบธรรมของ ล. และมีสิทธิรับมรดกของ ล. ผู้วายชนม์ กับให้จำเลยที่ 1 รื้อเรือนออกไป ห้ามเกี่ยวข้อง จำเลยต่อสู้หลายประการศาลสอบถามคู่ความรับกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นพี่สาวจำเลยที่ 2 เป็นน้องสาวของ ล. เจ้ามรดกร่วมบิดามารดาเดียวกัน บิดามารดาตายหมดแล้ว จำเลยที่ 1 เคยทำยอมดังกล่าว
ศาลชั้นต้นฟังว่า นางเหรียญโจทก์ไม่ใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของ ล. เพราะได้กันภายหลังใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว 2478 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่วนเด็กทั้ง 2 เป็นบุตรของ ล.จริง พิพากษาว่า เด็กทั้ง 2 เป็นทายาทในฐานะเป็นบุตร ล.มีสิทธิรับมรดกนาพิพาท จำเลยเป็นทายาท อันดับถัดไปไม่มีสิทธิเกี่ยวข้อง ห้ามจำเลยและให้รื้อเรือนออกไป
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กทั้ง 2 เป็นบุตร ล.แต่การเป็นบุตรจะมีผลนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1530(3) ขณะนี้เด็กทั้ง 2 จึงยังไม่มีผลเป็นบุตรและไม่เป็นทายาทของ ล.ไม่มีสิทธิรับมรดก ล. ขณะ ล.ตายจำเลยเป็นทายาท นามรดกพิพาทจึงตกแก่จำเลยทันที (อ้างฎีกาที่ 210/2491) พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามศาลล่างว่า นางเหรียญโจทก์ไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ล. ส่วนเด็กทั้ง 2 เป็นบุตรนอกกฎหมายของ ล. และเห็นว่าตามคำขอท้ายฟ้องดังกล่าว ก็ไม่ชัดว่าโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กทั้ง 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ล. สถานเดียวพิเคราะห์รวมกันแสดงชัดว่า โจทก์ฟ้องคดีก็เพื่อจะเอาทรัพย์มรดกของ ล. เป็นสำคัญ โจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบฟังได้ว่า ล. ได้รับรองว่าเด็กทั้ง 2 เป็นบุตร ล. เด็กทั้งสองจึงมีสิทธิรับมรดก ล. ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้างข้อเท็จจริงต่างกับคดี
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น