แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พนักงานของธนาคารโจทก์ร่วมรับฝากเงินจากสาขาของบริษัท ท. เพื่อโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของบริษัท ท. สำนักงานใหญ่แต่ป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาดไปเข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารโจทก์ร่วม จำเลยได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีของจำเลยไปจากธนาคารของโจทก์ร่วม แม้จำเลยจะทราบแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าเงินนั้นเข้าบัญชีผิดพลาด แต่จำเลยมีเจตนาทุจริตถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยเพราะโจทก์ร่วมได้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2537 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลย ซึ่งครอบครองเงินสดจำนวน 2,132,770 บาทของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย โดยพนักงานของผู้เสียหายจะโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 001-1-59255-4 ของบริษัทไทยเยาฮานจำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของผู้เสียหายที่ธคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่แต่พนักงานของผู้เสียหายป้อนข้อมูลเลขบัญชีของบริษัทไทยเยาฮาน จำกัด ผิดพลาดไปเป็นเลขที่ 001-1-59225-4 ซึ่งเป็นเลขที่บัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ จำเลยจึงครอบครองเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายโดยสำคัญผิด ต่อมาจำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายไปโดยสั่งปิดบัญชีออมทรัพย์ของจำเลย แล้วถอนเงินสดจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสองให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกจำนวน 2,132,770 บาท คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352วรรคสอง จำคุก 1 ปี คำให้การจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกจำนวน 2,132,770 บาท คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2537 พนักงานของโจทก์ร่วม สาขาเพชรเกษม 33รับฝากเงินจากบริษัทไทยเยาฮาน จำกัด สาขาฟิวเจอร์ปาร์คพลาซ่า จำนวน 2,132,770บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 001-1-59255-4 ของบริษัทไทยเยาฮาน จำกัดสำนักงานใหญ่ แต่พนักงานของโจทก์ร่วมป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาดไปเป็นเลขที่ 001-1-59225-4 ซึ่งเป็นเลขที่บัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารโจทก์ร่วมสำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 จำเลยเปลี่ยนชื่อจากสุภาพรเป็นชื่นจิต และนำเงินฝากเข้าบัญชีในวันดังกล่าวจึงทราบว่ามีเงินเข้าบัญชีของจำเลยโดยการผิดพลาดต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2537 จำเลยได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีของจำเลยไปจากธนาคารของโจทก์ร่วม สำนักงานใหญ่ โดยการปิดบัญชีตามใบถอนเงิน ภาพถ่ายสมุดคู่ฝากและรายการบัญชีการเงินของจำเลยเอกสารหมาย จ.2, จ.ร.3 และ จ.5 ตามลำดับปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกามีว่า เงินจำนวน 2,132,770 บาท เป็นทรัพย์ที่ได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยพนักงานของโจทก์ร่วมเช่นนี้ เป็นการส่งมอบให้โดยสำคัญผิดตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง หรือไม่เห็นว่า เงินจำนวน 2,132,770 บาท ปรากฏว่าเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแต่วันที่ 13ธันวาคม 2537 แล้วโดยจำเลยทราบว่าเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของจำเลยเมื่อวันที่ 16ธันวาคม 2537 เพราะการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาด การที่จำเลยถอนเงินที่เข้าบัญชีผิดพลาดออกไปตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2537 ขณะนั้นโจทก์ร่วมเองก็ยังไม่ทราบว่าเงินจำนวนนั้นไม่ใช่เป็นเงินของจำเลยโดยเป็นของบริษัทไทยเยาฮาน จำกัดสาขาฟิวเจอร์ปาร์คพลาซ่า เพราะโจทก์ร่วมมาทราบเหตุในวันที่ 30 ธันวาคม 2537 โดยบริษัทไทยเยาฮาน จำกัด สาขาฟิวเจอร์ปาร์คพลาซ่า ได้แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าเงินไม่ได้อยู่ในบัญชี ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้ถอนเงินจำนวนนั้นไปแล้ว แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายทราบแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาท นั้นเข้าบัญชีของจำเลยผิดพลาด แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตถอนเงินดังกล่าวไป โดยโจทก์ร่วมได้มอบเงินให้แก่จำเลยไปแล้วเช่นนี้กรณีถือได้ว่าเงินจำนวน 2,132,770 บาทนั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของจำเลย เพราะโจทก์ร่วมได้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผิดพลาด จึงย่อมเป็นการส่งมอบเงินให้โดยสำคัญผิดตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน