คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4434/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”กรีนด์นัทโกลด์GreenutGolf”และ”GOLDNUTโกลด์นัท”จำเลยที่ 1 คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 2 มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold” ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันที่14 กุมภาพันธ์ 2535 อันเป็นวันที่ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มีผลบังคับ ดังนั้น การวินิจฉัยคดีจึงอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่นั้น หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำก็ต้องพิจารณาคำในเครื่องหมายการค้านั้นทั้งหมด สำเนียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวก และชนิดของสินค้าที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นประกอบเข้าด้วยกันว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ โจทก์ตั้งโรงงานผลิตถั่วลันเตากรอบถั่วลิสง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมและกองควบคุมอาหาร กระทรวงสาธารณสุขโจทก์ผลิตสินค้าประเภทถั่วลันเตามานาน 8 ปี วางขายและจำหน่าย ทั่วประเทศ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD” มานาน 10 ปี และจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2512 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ชนิดสินค้ากาแฟ กาแฟสกัด น้ำเชื้อกาแฟ ชาและชาสกัด สินค้าของโจทก์ที่ผลิตมีแต่ถั่วลันเตากรอบ ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นกาแฟสำเร็จรูปชนิดเกล็ดและกาแฟสำเร็จรูปที่สกัดแคฟเฟอีนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีเฉพาะภาษาอังกฤษ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสำเนียงเรียกขานว่า โกลด์นัทและกรีนนัทโกลด์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1อ่านว่า โกลด์ เครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์มี 2 พยางค์และ 3 พยางค์ ตามลำดับ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1มีพยางค์เดียว และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่า เป็นถั่วลันเตากรอบกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกาแฟเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันมาก แม้จะจัดอยู่ในสินค้าจำพวกเดียวกันก็ตามจำเลยที่ 1 จดทะเบียนคำว่า “GOLD” มาตั้งแต่ปี 2512 แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า”GOLD” กับสินค้ากาแฟที่จำเลยที่ 1 ผลิต นอกจากนี้จำเลยที่ 1ใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “GOLDBLEND” และ”โกลด์เบลนด์” กับสินค้ากาแฟและใช้ในลักษณะเป็นรุ่นหรือชนิดของสินค้ากาแฟประกอบกับเครื่องหมายการค้าอักษรประดิษฐ์”NESCAFE” หรือ “เนสกาแฟ” เท่านั้น การเรียกขานสินค้าของโจทก์ อาจเรียกว่า “ถั่วกรีนนัทโกลด์”หรือ”ถั่วโกลด์นัท”ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 อาจเรียกว่า “เนสกาแฟโกลด์เบลนด์”เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันหลายประการเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLDNUT โกลด์นัท”และ “กรีนนัทโกลด์ GreennutGold” ของโจทก์ จึงไม่เหมือน หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “GOLD” ของจำเลยที่ 1จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “กรีนแอนด์โกลด์Green&Gold” ของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า”Gold””GOLDBLEND” และ “โกลด์เบลนด์” ของจำเลยที่ 1 ไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดได้ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะได้รับการจดทะเบียนภายหลัง เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มาเลียนแบบแล้วนำไปขอจดทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold” ของโจทก์ดีกว่าโจทก์ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีนแอนด์โกลด์ Green&Gold”ของโจทก์ได้ เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 คำว่า “GOLD” คำว่า “โกลด์เบลนด์” และคำว่า “GOLDBLEND” ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 มาตั้งแต่ก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLDNUT””โกลด์นัท”และคำว่า”กรีนนัทโกลด์ GreennutGold” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 และเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งมีคำว่า “GOLD” เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วย และขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นการกระทบถึงสิทธิของตนได้ ตามที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 22 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นการที่จำเลยที่ 1ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะพิจารณาคำขอของโจทก์และคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 แล้วให้คำวินิจฉัยโดยมีคำสั่งรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามมาตรา 22 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าที่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

คดี 3 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกบริษัทบีบี จำกัด โจทก์ในสำนวนแรกกับสำนวนที่ 2 และจำเลยที่สำนวนที่ 3 ว่าโจทก์ เรียกบริษัทโชซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.อา. จำเลยที่ 1ในสำนวนแรกกับสำนวนที่ 2 และโจทก์ในสำนวนที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1และเรียกนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกและสำนวนที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2
สำนวนแรกและสำนวนที่ 2 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตสินค้าประเภทถั่วลันเตากรอบออกจำหน่ายในท้องตลาดทั่วประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีนนัท โกลด์Greennut Gold” และ “GOLF NUT โกลด์นัท” ซึ่งโจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปรอยประดิษฐ์ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์บ่งเฉพาะไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD” ของจำเลยที่ 1และคำว่า “Gold” เป็นคำสามัญใช้ได้ทั่วไป โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าขนมถั่วกรอบของโจทก์จนเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคและเข้าใจว่าสินค้าถั่วลันเตาอบกรอบภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ โจทก์จึงนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งอักษรโรมันและอักษรไทยไปยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวก แต่จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้าน และจำเลยที่ 2ปฏิเสธการรับจดทะเบียน โดยวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยเสียประโยชน์ในเชิงธุรกิจแต่ละเครื่องหมายการค้าเป็นเงิน 500,000 บาท ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1คัดค้านหรือขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold” และ “GOLD NUT โกลด์นัท”ให้จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 201623 และ 201476 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแต่ละสำนวนเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหากนำไปใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าครอบคลุมถึงกันแล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดย่อมเกิดขึ้นได้ชอบที่จำเลยที่ 2 จะปฏิเสธการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 16 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504จำเลยที่ 2 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่ 3 จำเลยที่ 1 ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “GOLD” อ่านว่า โกลด์ และคำว่า”GOLD BLEND” อ่านว่า โกลด์ เบลนด์ และเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “โกลด์” และคำว่า “โกลด์ เบลนด์” จำเลยที่ 1 ได้ใช้และโฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยที่ 1จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “GOLD” “GOLD BLEND”และอักษรไทยคำว่า “โกลด์ เบลนด์” ในประเทศไทยสำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 มาเป็นเวลานานแล้ว ต่อมาในปี2533 โจทก์นำเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า “โกลด์” ของจำเลยที่ 1ไปจดทะเบียนเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า “GOLD NUT โกลด์นัท” “กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold” และ”กรีน แอนด์ โกลด์ Green & Gold” ตามคำขอเลขที่ 201476,201623 และ 201626 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านการยื่นคำขอตามคำขอเลขที่ 201476 และ 201623 และจำเลยที่ 2 ได้ระงับการจดทะเบียนตามคำขอดังกล่าวไว้ ส่วนการยื่นขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 201626 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่ทราบ จึงไม่ได้คัดค้านเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนให้ซึ่งเครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีน แอนด์ โกลด์ Green & Gold” เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีคำว่า “โกลด์” และ “GOLD” เป็นสาระสำคัญในการจดจำและเรียกขานเหมือนกันเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1ที่จดทะเบียนไว้ เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนไม่ชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนและการที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีน แอนด์ โกลด์Green & Gold” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 เช่นเกี่ยวกับของจำเลยที่ 1หากนำไปใช้ ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าว่าเป็นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันเป็นการลวงขายและใช้สิทธิไม่สุจริตขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 143600คำขอเลขที่ 201626 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า”โกลด์” “GOLD” “โกลด์ แบลนด์” และ “GOLD BLEND” ของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”GOLD” และอักษรไทยคำว่า “โกลด์” รวมทั้งเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ 143600 คำขอเลขที่ 201626 ดีกว่าโจทก์ให้โจทก์ถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 143600 คำขอเลขที่201626 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ห้ามโจทก์ใช้ยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”GOLD” และอักษรไทยคำว่า “โกลด์” และเครื่องหมายอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD” หรือ “โกลด์” อีก
โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “GOLD” และ “GOLD BLEND”และอักษรไทยคำว่า “โกลด์ เบลนด์” ทั้งมิได้มีการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยที่ 1 จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายต่อสาธารณชน จำเลยที่ 1 ไม่เคยผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจำหน่ายในท้องตลาดคำว่า “GOLD” เป็นคำสามัญที่ใช้ได้ทั่วไป เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “Green & Gold” และอักษรไทยคำว่า”กรีน แอนด์ โกลด์” แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าคำว่า”GOLD” “โกลด์ เบลนด์” และ GOLD BLEND” อย่างชัดเจนทั้งการเรียกขานลักษณะการประดิษฐ์ตัวอักษร และการวางรูปแบบขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 143600คำขอเลขที่ 201626 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า”GOLD” ” GOLD BLEND” และคำว่า “โกลด์ เบลนด์” ของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 143600คำขอเลขที่ 201626 หากโจทก์ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามสำนวนแรกและสำนวนที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ในสำนวนแรกกับสำนวนที่ 2 และจำเลยในสำนวนที่ 3อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ในสำนวนแรกกับสำนวนที่ 2 และจำเลยในสำนวนที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาและตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้แย้งกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทวัสดุที่ใช้เป็นอาหารเครื่องปรุงอาหาร อาหารที่ทำจากธัญพืช ช็อกโกแลตสอดไส้ถั่วขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ หลายชนิด และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าคำและรูปประดิษฐ์ต่าง ๆ จำนวนมากจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”GOLD” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ชนิดสินค้า กาแฟ กาแฟสกัดน้ำเชื้อกาแฟ ชา และชาสกัดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2512 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD” ที่ซาบาห์กัวลาลัมเปอร์มาเลเซีย บรูไน ในปี 2521 และในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2525 และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “GOLD BLEND” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวกเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2527 กับได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่ไต้หวัน เมื่อปี 2517 ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “โกลด์ เบลนด์” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42ทั้งจำพวกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2526 โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD NUT โกลด์นัท”สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวก ตามคำขอเลขที่ 201476 และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวก ตามคำขอเลขที่ 201623 และคำว่า”กรีน แอนด์ โกลด์ Green & Gold” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42ทั้งจำพวก ตามคำขอเลขที่ 201626 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 201476และ 201623 ต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2534 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1คัดค้าน ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 201626 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้าน จำเลยที่ 2 จึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ตามทะเบียนเลขที่ 143600
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “กรีนนัท โกลด์Greennut Gold” “GOLD NUT โกลด์นัท” และ “กรีน แอนด์ โกลด์Green & Gold” เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1คำว่า “GOLD” “GOLD BLEND” และ “โกลด์ เบลนด์” จนถึงกับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่และจำเลยที่ 1 จะขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “กรีน แอนด์โกลด์ Green & Gold” ตามทะเบียนที่ 143600 ได้หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คำว่า “GOLD”เป็นคำสามัญที่ใช้กันแพร่หลาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิหวงกันไว้ใช้แต่ผู้เดียว เครื่องหมายการค้าของโจทก์มิได้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold” และ”GOLD NUT โกลด์นัท” จำเลยที่ 1 คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และจำเลยที่ 2 มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีน แอนด์ โกลด์ Green & Gold” ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 20 เมษายน2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันที่14 กุมภาพันธ์ 2535 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มีผลบังคับ ดังนั้น การวินิจฉัยคดีจึงอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474ซึ่งมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า”ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายใด เหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของอื่นได้นำมาจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายเช่นว่านี้จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนและให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่รับจดทะเบียนนั้นไปให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ” ปัญหาที่ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวม 3 แบบเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำ คือ เครื่องหมายการค้าคำว่า”GOLD NUT โกลด์นัท” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวกตามคำขอเลขที่ 201476 และเครื่องหมายการค้าคำว่า”กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42ทั้งจำพวก ตามคำขอเลขที่ 201623 กับเครื่องหมายการค้าคำว่า”กรีน แอนด์ โกลด์ Green & Gold” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42ทั้งจำพวก ตามคำขอเลขที่ 201626 ซึ่งได้รับการจดทะเบียนแล้วตามทะเบียนเลขที่ 143600 ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “GOLD” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ชนิดสินค้ากาแฟ กาแฟสกัด น้ำเชื้อกาแฟ ชา และชาสกัดตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 43477 คำว่า “GOLD BLEND”และคำว่า “โกลด์ เบลนด์” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวกตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 94177 และ 85962 สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD NUT โกลด์นัท” และ”กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold” ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวก นั้น จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้าน โจทก์จึงยื่นคำโต้แย้งแถลงเหตุที่ตนอาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “GOLD” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ชนิดสินค้ากาแฟ กาแฟสกัด น้ำเชื้อกาแฟ ชา และชาสกัดของจำเลยที่ 1และปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้ โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 22 วรรคสี่ (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เห็นว่าการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่นั้นหากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำ ดังเช่นในคดีนี้ ก็ต้องพิจารณาคำในเครื่องหมายการค้านั้นทั้งหมด สำเนียงเรียกขานตลอดจนจำพวกและชนิดของสินค้าที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นประกอบเข้าด้วยกันว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ข้อนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าโจทก์ตั้งโรงงานผลิตถั่วลันเตากรอบ ถั่วลิสง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์โดยได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและกองควบคุมอาหาร กระทรวงสาธารณสุข โจทก์ผลิตสินค้าประเภทถั่วลันเตามานาน 8 ปี วางขายและจำหน่ายทั่วประเทศส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD” มานาน10 ปี และจดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2512สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ชนิดสินค้ากาแฟ กาแฟสกัดน้ำเชื้อกาแฟชา และชาสกัด สินค้าของโจทก์ที่ผลิตปรากฏตามวัตถุพยานหมายว.จ.1 ว.จ.2 ว.จ.4 และ ว.7.5 ว่ามีแต่ถั่วลันเตากรอบ ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย ว.7.6 และ ว.จ.7ว่าเป็นกาแฟสำเร็จรูปชนิดเกล็ดและกาแฟสำเร็จรูปที่สกัดแคฟเฟอีนเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันหลายประการกล่าวคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีเฉพาะภาษาอังกฤษ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีสำเนียงเรียกขานว่า โกลด์นัท และกรีนนัทโกลด์ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อ่านว่า โกลด์เครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์มี 2 พยางค์ และ 3 พยางค์ตามลำดับ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีพยางค์เดียวและเมื่อพิจารณาถึงสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าเป็นถั่วลันเตากรอบกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกาแฟประกอบด้วยแล้ว เห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันมากแม้จะจัดอยู่ในสินค้าจำพวกเดียวกันก็ตาม จำเลยที่ 1จดทะเบียนคำว่า “GOLD” มาตั้งแต่ปี 2512 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เคยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD” กับสินค้ากาแฟที่จำเลยที่ 1 ผลิต นอกจากนี้ยังปรากฏตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.6และ ว.จ.7 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า”GOLD BLEND” และ “โกลด์เบลนด์” กับสินค้ากาแฟและใช้ในลักษณะเป็นรุ่นหรือชนิดของสินค้ากาแฟประกอบกับเครื่องหมายการค้าอักษรประดิษฐ์ “NESCAFE” หรือ “เนสกาแฟ” เท่านั้น การเรียกขานสินค้าของโจทก์อาจเรียกว่า “ถั่วกรีนนัทโกลด์” หรือ “ถั่วโกลด์นัท”ส่วนสินค้าของจำเลยที่ 1 อาจเรียกว่า “เนสกาแฟโกลด์เบลนด์”เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันหลายประการเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD NUT โกลด์นัท” และ”กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold” ของโจทก์ จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “GOLD” ของจำเลยที่ 1จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า คำวินิจฉัยของนายทะเบียนจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “กรีน แอนด์ โกลด์ Green & Gold” ของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “GOLD” “GOLD BLEND”และ “โกลด์ เบลนด์” ของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ และจำเลยที่ 1 จะขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีน แอนด์ โกลด์ Green & Gold”ของโจทก์ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทได้หรือไม่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 หลายประการเช่นกัน กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเครื่องหมายการค้าเดียวกัน ส่วนเครื่องหมายการค้า 2 เครื่องหมายของจำเลยที่ 1เป็นภาษาอังกฤษ และอีกหนึ่งเครื่องหมายเป็นภาษาไทยเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานว่า กรีนแอนด์โกลด์ ส่วนเครื่องหมายการค้า 3 เครื่องหมายของจำเลยที่ 1 อ่านว่า โกลด์และโกลด์เบลนด์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ออกเสียงเป็น 3 พยางค์ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มี 1 พยางค์ และ 2 พยางค์และสินค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 แตกต่างกันดังได้วินิจฉัยแล้วเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดได้ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะได้รับการจดทะเบียนภายหลังเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มาเลียนแบบแล้วนำไปขอจดทะเบียน จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “กรีน แอนด์ โกลด์Green & Gold” ของโจทก์ดีกว่าโจทก์ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “กรีน แอนด์ โกลด์ Green & Gold” ของโจทก์ตามฟ้องของจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 3 ได้ เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คำว่า “GOLD” เป็นคำสามัญและจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิใช้แต่ผู้เดียวหรือไม่ต่อไป เพราะแม้จะวินิจฉัยให้ ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยข้อนี้เปลี่ยนแปลงไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นข้อสุดท้ายมีว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องโจทก์2 สำนวนแรกหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 คำว่า “GOLD” คำว่า “โกลด์ เบลนด์” และคำว่า”GOLF BLEND” ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย ล.12ล.22 และ ล.23 ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 42ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2512 วันที่ 31 มกราคม 2526 และวันที่7 กันยายน 2527 ตามลำดับ ส่วนโจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOLD NUT โกลด์นัท” และคำว่า”กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 42ตามคำขอเอกสารหมาย ล.3 และ จ.8 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533และ 20 เมษายน 2533 ตามลำดับเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งมีคำว่า”GOLD” เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยและขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวซึ่งเห็นว่าเป็นการกระทบถึงสิทธิของตนได้ตามที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 22 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะพิจารณาคำขอของโจทก์และคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 แล้วให้คำวินิจฉัยโดยมีคำสั่งรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามมาตรา 22 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าที่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์โดยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า”GOLD NUT โกลด์นัท” และ “กรีนนัท โกลด์ Greennut Gold”และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share