แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยปลอมหนังสือรวม 43 ฉบับ แต่มิได้ส่งสำเนาให้จำเลย และมิได้ระบุรายละเอียดว่าฉบับไหนใครทำ และทำเมื่อใดแม้โจทก์จะได้ระบุไว้ในฟ้องว่า จะส่งเอกสารในวันพิจารณาก็ดี แต่เมื่อจำเลยคัดค้านโจทก์ก็ยังยืนยันตามฟ้องเดิมไม่ส่งเอกสารเพิ่มเติมดังนี้ ต้องถือว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2485 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2486 เวลากลางวันและกลางคืนตลอดมาจำเลยรับราชการตำแหน่งหัวหน้ากองสัตว์รักษ์ฯ ได้เบิกและรับเงินค่าใช้สอยทดลองราชการประเภทค่าพาหนะไปเพื่อซื้อไม้สำหรับทำคอกสัตว์เป็นเงิน 19,680 บาท จำเลยไม่ได้จ่ายเงินตามหลักฐานราชการที่ได้รับอนุญาต กลับใช้จ่ายซื้อสิ่งของและกิจการอย่างอื่นฝ่าฝืนนอกเหนือ และบังอาจกระทำและจัดให้ผู้อื่นกระทำใบสำคัญรับเงินค่าเช่าเรือยนต์พร้อมด้วยน้ำมันอันเป็นหนังสือราชการปลอมขึ้น 43 ฉบับ ซึ่งจะได้ส่งศาลในวันพิจารณาโดยจำเลยตั้งใจจะให้เป็นหนังสือราชการที่แท้จริงแสดงว่าบุคคลผู้มีชื่อเป็นผู้รับเงินในใบสำคัญเหล่านั้น ซึ่งความจริงบุคคลผู้มีชื่อในใบสำคัญนั้นไม่มีตัวจริง และจำเลยได้นำใบสำคัญปลอมดังกล่าวแล้วไปใช้แก่กรมปสุสัตว์ว่าเป็นใบสำคัญอ้นแท้จริง ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 222, 223, 224, 227
จำเลยให้การปฏิเสธความผิด และต่อสู้ว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่ระบุให้ชัดเจนว่า จำเลยใช้จ่ายซื้อสิ่งของในกิจการอะไรบ้างไม่บรรยายความสำคัญของเอกสารทั้ง 43 ฉบับว่า ฉบับไหนจำเลยทำฉบับไหนให้ผู้อื่นทำ และไม่ระบุว่า ผู้อื่นนั้นเป็นใคร ไม่มีทางที่จำเลยจะเข้าใจข้อหา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำหนังสือปลอมและจัดให้ผู้อื่นกระทำปลอมรวม 43 ฉบับด้วยกันแต่ละฉบับไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลยทราบ ปล่อยให้จำเลยเข้าใจเอาเองว่าเอกสารทั้ง 43 ฉบับนั้นมีข้อความอย่างใดและทำขึ้นโดยใครเมื่อใด ซึ่งจำเลยไม่อาจทราบได้เอง แม้โจทก์จะได้ระบุไว้ว่าจะส่งเอกสารในวันพิจารณา แต่เมื่อจำเลยคัดค้านแล้ว โจทก์ก็ยังไม่ส่ง คงยืนยันไม่ยอมบรรยายฟ้องอย่างใดอีก จึงเป็นการเอาเปรียบไม่เปิดโอกาสให้จำเลยแก้ตัวว่า ความจริงจะเป็นดังโจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ เพราะไม่ให้ทราบความในเอกสารนั้น จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่บรรยายข้อเท็จจริงให้พอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) คงพิพากษายืน