แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานจึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ เมื่อพยานหลักฐานของผู้คัดค้านเท่าที่นำสืบมาไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานได้ จึงต้องรับฟังว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ถูกยึดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
การดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บังคับให้ยื่นต่อศาลแพ่งและจะต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับในการดำเนินกระบวนพิจารณา แม้ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความซึ่งรวมถึงค่าทนายความจะตกอยู่แก่ฝ่ายที่แพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 แต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง บัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งหมายความรวมถึงค่าธรรมเนียมใช้แทนและค่าทนายความให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสอง จึงไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามแม้ผู้ร้องจะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 18 รายการ มูลค่ารวม 428,600 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 18 รายการ ตามบัญชีทรัพย์สินฯ เอกสารหมาย ร. 20 ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ปล่อยทรัพย์สินทั้ง 18 รายการ ตามบัญชีทรัพย์สินฯ เอกสารหมาย ร. 20 แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้คัดค้านทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,500 บาท
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกมีว่า กรณีผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลต้องรับฟังว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า
(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ…”
มาตรา 51 บัญญัติว่า
“เมื่อศาลทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา 49 แล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี”
ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 เป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน โดยจะต้องแสดงให้ศาลเห็นรวม 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องแสดงว่าตน เป็นเจ้าของที่แท้จริง และประการที่สอง ต้องแสดงว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และกรณีที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต กรณีจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อน ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 แม้พยานหลักฐานของผู้ร้องไม่มีเกี่ยวพันไปถึงให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อน แต่เงินสด 177,900 บาท รายการที่ 1 ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาจากการเล่นแชร์และทองรูปพรรณรายการที่ 2 ถึงที่ 18 ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้สะสมเงินไปซื้อมา โดยผู้คัดค้านที่ 2 เพียงแต่เบิกความกล่าวอ้างโดยไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุน น่าเชื่อว่าทรัพย์สินทั้ง 18 รายการ ที่ยึดไว้ในคดีนี้เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกยึดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ ทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบก็มีแต่คำเบิกความของผู้คัดค้านทั้งสองเพียงลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน เว้นแต่หนังสือรับรองของบริษัทสยามคาร์โก้ทรานสปอร์ต จำกัด เท่านั้น พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสองเท่าที่นำสืบมาจึงไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีจึงต้องรับฟังว่า ทรัพย์สินทั้ง 18 รายการ ตามบัญชีทรัพย์สินเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อต่อไปมีว่า ผู้ร้องได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีนี้ ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องชำระให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หมวด 6 การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน มาตรา 59 บัญญัติว่า
“การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในการนี้ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง”
ซึ่งหมายความว่าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับไว้ว่าให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และจะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการดำเนินกระบวนพิจารณา ดังนั้นความรับผิดในค่าธรรมเนียมของคู่ความในคดีซึ่งรวมถึงค่าทนายความด้วยย่อมตกอยู่แก่ฝ่ายที่แพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 แต่พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตามมาตรา 59 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว พนักงานอัยการผู้ร้องจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมอันรวมถึงค่าธรรมเนียมใช้แทนและค่าทนายความให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งด้วย การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ร้องจะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คืนค่าธรรมเนียมใช้แทนแก่ผู้ร้อง