คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 24,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะลงโทษปรับจำเลยด้วยแต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ โทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต่ำกว่าโทษที่จำเลยจะต้องรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสมถวิล สีมารักษ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 5 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 24,000บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219บัญญัติว่า “ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย” คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 เดือนและปรับ 24,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน40,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะลงโทษปรับจำเลยด้วย แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ โทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต่ำกว่าโทษที่จำเลยจะต้องรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย คดีนี้จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมมานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาโจทก์ร่วม

Share