คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นการตกลงซื้อขายกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ซึ่งเป็นขั้นตอนของการดำเนินการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่จำเลยผู้ถูกเวนคืน เมื่อปรากฏจากการรังวัดว่าเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่ รับไว้โดยที่ดินมิได้ถูกเวนคืนแก่โจทก์ กรณีหาใช่เรื่องจำเลยได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์เพราะโจทก์กระทำการชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นลาภมิควรได้ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ไม่ และเมื่อการฟ้องร้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ชำระเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเนื่องจากการดำเนินตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความเป็นพิเศษ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๒๒๓ และ ๓๓๐๘ ต่อมารัฐมีความจำเป็นต้องสร้างทางพิเศษในโครงการทางด่วนขั้นที่ ๒ เป็นผลให้ที่ดินสองแปลงดังกล่าวของจำเลยถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ประมาณ ๖ ตารางวา ซึ่งยังเป็นจำนวนที่ยังไม่แจ้งชัดเนื่องจากยังมิได้ทำการรังวัดแบ่งแยกจากกรมที่ดิน โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๒๒๓ เนื้อที่ ๑ ตารางวา เป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท โฉนดเลขที่ ๓๓๐๘ เนื้อที่ ๕ ตารางวา เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท และคิดเงินค่าทดแทนสำหรับถนนที่ถูกเขตทางพิเศษเป็นเงิน ๑๔,๒๖๔.๙๐ บาท ทั้งนี้เป็นราคาตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนด จำเลยได้รับเงินดังกล่าวไปแล้ว ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากพนักงานซึ่งทำการรังวัดที่ดินว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๐๘ ถูกแบ่งเป็นเขตทางพิเศษเนื้อที่ ๒ ตารางวา จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินตามจำนวนที่ลดลงให้แก่โจทก์จำนวนเงิน ๑๘๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย ๑๑,๓๖๒.๕๐ บาท ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑๙๑,๓๖๒.๕๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๘๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เพราะเนื้อที่ดินเปลี่ยนแปลงไปไม่ตรงกับสัญญาจึงเป็นการสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม และจำเลยไม่จำต้องคืนเงินจำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากเป็นเงินที่จำเลยรับมาโดยสุจริตและได้ใช้จ่ายไปหมดแล้ว จึงเป็นลาภ มิควรได้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๑๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๘ จนกว่าชำระเสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เท่ากับ ๑๙๑,๓๖๒.๕๐ บาท ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง จำเลยโต้แย้งการวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองในปัญหาที่ว่า จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นการตกลงซื้อขายกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๑๐ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการดำเนินการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่จำเลยผู้ถูกเวนคืน เมื่อปรากฏจากการรังวัดว่าเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่รับไว้โดยที่ดินมิได้ถูกเวนคืนแก่โจทก์ กรณีหาใช่เรื่องจำเลยได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์ เพราะโจทก์กระทำการชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นลาภมิควรได้ซึ่งมีอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๙ ไม่ และเมื่อการฟ้องร้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ชำระเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเนื่องจากการดำเนินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความเป็นพิเศษ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี นับแต่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ซึ่งตามสัญญาซื้อขายฯ ระบุว่า การจ่ายเงินค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือการคืนเงินค่าที่ดินที่ลดลงให้กระทำภายใน ๓๐ วัน นับแต่รังวัดแบ่งแยกแล้วเสร็จ เมื่อสำนักงานที่ดินฯ มีหนังสือแจ้งผลการรังวัดที่ดินดังกล่าวลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๘ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๙ คดีจึงยังไม่ขาดอายุความตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๙๗/๒๕๔๑ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share