คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ว่า ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นใด โดยอาศัยเหตุอย่างใดแล้ว คู่ความจะรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นนั้น โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ ในคดีก่อนศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์เนื่องจากจำนวนบุคคลที่มาดำเนินคดีแทนโจทก์ไม่ครบจำนวนตามที่โจทก์มอบอำนาจขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 804 ซึ่งถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนประเด็นแห่งคดีที่ว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยหรือไม่นั้น ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย ส่วนในคดีหลังโจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับผู้รับมอบอำนาจแล้วและดำเนินการฟ้องใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยดังนี้การฟ้องคดีหลังจึงไม่มีลักษณะเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน กรณีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายนิมะ นิเงาะและนายมุด เหมศิริ ฟ้องคดีนี้ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 185เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยการรับมรดกตามพินัยกรรมของนายหะยีซัน มะซอและ เมื่อปี 2521 เมื่อประมาณปี 2525 จำเลยนำความเท็จมาร้องศาลว่า นายหะยีซันได้ยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่33095 (ซึ่งแบ่งแยกมาจากโฉนดเลขที่ 185) ให้แก่จำเลย และจำเลยได้ครอบครองจนได้กรรมสิทธิตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 โดยโจทก์ไม่ทราบ และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 218/2525 ว่าจำเลยมีกรรมสิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทซึ่งความจริงแล้ว จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยเช่าจากเจ้ามรดกและเช่าจากโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิในที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องและคำสั่งศาลในคดีแพ่งดังกล่าวไม่อาจใช้ยันโจทก์ได้ ห้ามจำเลยนำคำสั่งดังกล่าวไปจดทะเบียนเพื่อโอนที่พิพาทเป็นของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับยกให้ที่ดินแปลงพิพาทจากเจ้ามรดกส่วนที่โจทก์ได้รับมรดกไม่รวมถึงที่พิพาท จำเลยได้เคยเช่าจากผู้ใดฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 77/2528 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิในที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง คำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 218/2525 ของศาลชั้นต้นใช้ยันโจทก์ไม่ได้ ห้ามจำเลยนำคำสั่งดังกล่าวไปจดทะเบียน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ยืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 77/2528 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 บัญญัติว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นใดโดยอาศัยเหตุอย่างใดแล้ว คู่ความจะรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นนั้นโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่กรณีของโจทก์นี้ ปรากฏว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 77/2528 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากโจทก์มอบอำนาจให้คณะบุคคลจำนวน 6 คนฟ้องคดีแทน แต่มีบุคคลในจำนวนนั้นเพียง 5 มาฟ้องคดีแทนโจทก์อันเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 804 จึงถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนประเด็นอันเป็นเนื้อหาของคดี คือประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยเพียงใดหรือไม่นั้นศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย โจทก์จึงแก้ไขตัวบุคคลผู้รับมอบอำนาจเสียใหม่และดำเนินการยื่นฟ้องใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย ดังนี้ การฟ้องคดีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นการฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงจำเลยครอบครองที่พิพาทซึ่งแบ่งแยกมาจากโฉนดเลขที่ 185 โดยอาศัยสิทธิของเจ้ามรดกเมื่อโฉนดเลขที่ 185 เป็นกรรมสิทธิของโจทก์ตามพินัยกรรม คำสั่งแสดงกรรมสิทธิที่ดินในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่218/2525 ของศาลชั้นต้นใช้ยันโจทก์ไม่ได้
พิพากษายืน

Share