คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานที่นำสืบฟังได้ว่า จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ได้รับอันตรายเป็นบาดแผลนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางจำลอง รองแพ่ง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจำคุก 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าลักษณะของบาดแผลของโจทก์ร่วมเกิดจากถูกของมีคม ทั้งความลึกของบาดแผลมีมากกว่าความยาว บาดแผลน่าจะเกิดจากถูกแทงมากกว่าถูกฟัน กรณีจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าจำเลยใช้มีดเหน็บพันถูกบริเวณขาโจทก์ร่วมดังฟ้องหรือไม่ และเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 มาตรา 3 โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยได้ใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธทำร้ายร่างกายโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายเป็นบาดแผล เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ แล้วพิพากษากลับให้จำคุกจำเลยจึงเป็นการมิชอบและต้องถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาจำเลย

Share