แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกโฉนดคืนจากจำเลย จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิในที่พิพาทนั้นกึ่งหนึ่ง และโจทก์ให้โฉนดมาพร้อมกับใบมอบฉันทะเพื่อแบ่งให้จำเลย เมื่อโจทก์กลับใจเรียกโฉนดคืน ดังนี้จำเลยย่อมฟ้องแย้งขอให้ศาลแบ่งที่ดินให้จำเลยมาในคำให้การด้วยได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน
เมื่อศาลชั้นต้นบันทึกเรื่องทนายโจทก์ถามพยานซ้ำซาก จึงสั่งให้งดทนายโจทก์ก็มิได้คัดค้าน หรือยื่นคำแถลงคัดค้านไว้ ภายหลังทนายโจทก์จะมาคัดค้านว่า เป็นเรื่องศาลชั้นต้นห้ามทนายถามพยานนั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งคืนโฉนดให้โจทก์จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินตามโฉนดนี้โจทก์จำเลยได้ปกครองร่วมกัน ยังไม่ได้แบ่ง โจทก์ลอบนำเจ้าพนักงานเดินสำรวจใส่ชื่อโจทก์ผู้เดียวโดยจำเลยไม่ทราบต่อมาจำเลยทราบเรื่อง จึงเรียกเอาโฉนดมายึดไว้เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ทำการทุจริตต่อไป โจทก์ได้ยอมตกลงแยกโฉนดที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง และได้ทำหนังสือมอบฉันทะไปยื่นต่อเจ้าพนักงานแล้ว บัดนี้โจทก์กลับใจเรียกโฉนดคืน จึงขอให้ศาลแบ่งที่ดินให้จำเลยครึ่งหนึ่งเป็นราคา 2,000 บาท
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย 2 ข้อคือ 1. ไม่ควรรับฟ้องแย้ง 2. ศาลชั้นต้นห้ามทนายโจทก์ซักค้านนายทาพยานจำเลย
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ในปัญหาข้อ 1 ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นกรณีพิพาทกันเรื่องที่ดิน ประเด็นสำคัญจะต้องพิจารณาเรื่องสิทธิ์ในที่ดินก่อนส่วนโฉนดเป็นหลักฐานของกรรมสิทธิ์ควรพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพัน โจทก์จะเถียงว่า โฉนดเป็นแผ่นกระดาษ เป็นทรัพย์อย่างอื่นนั้นไม่ได้ เพราะโฉนดในกรณีเช่นนี้เป็นเครื่องหมายแทนที่ดิน ส่วนในปัญหาข้อ 2 ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้บันทึกข้อที่ศาลสั่งห้ามทนายถามพยานซ้ำซากนั้นไว้ซึ่งในบัดนั้นไม่ปรากฏว่าทนายโจทก์ได้ร้องขอให้ศาลจดคำที่ตนจะถามและข้อคัดค้านและทั้งไม่ยื่นคำแถลงในข้อนี้เพื่อรวมสำนวนเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีเหตุอย่างอื่นนอกจากจะต้องฟังว่าความจริงเป็นดังที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ คือเป็นเรื่องทนายถามซ้ำซาก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ให้ถามพยาน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน