คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป. ซื้อไม้สักแปรรูปที่ถูกต้องตามกฎหมายจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มาใช้ในกิจการโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรของ ป. ย่อมเป็นไม้ที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้ จำเลยขอไม้สักแปรรูปจาก ป.มาเก็บไว้ที่บ้านจำเลย ถือได้ว่าจำเลยมีหลักฐานแสดงว่าได้ไม้สักแปรรูปซึ่งอยู่ในครอบครองนั้นมาโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้แล้ว เมื่อจำเลยมีไม้สักแปรรูปไว้ ในครอบครองมิใช่เพื่อการค้าจึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 50(3) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมี ไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคแรก,73 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไม้สักแปรรูปจำนวน 9,565 แผ่น/เหลี่ยมปริมาตร 3.93 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 7, 48, 73, 74 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 48 วรรคแรก, 73 วรรคสอง, 74จำคุก 2 ปี คำรับของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 1 ปี 4 เดือนริบของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานป่าไม้และเจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันตรวจค้นบ้านของจำเลยพบไม้สักแปรรูปจำนวน 9,565 ชิ้น ปริมาตร 3.93 ลูกบาศก์เมตร จึงจับกุมจำเลยและยึดไม้สักแปรรูปดังกล่าวเป็นของกลาง และทำบัญชีไม้ของกลางไว้ตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ หากจำเลยกระทำผิดสมควรลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยหรือไม่
ปัญหาประการแรกนั้น ปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยและนายประยูร ฝากมิตร เอกสารหมาย จ.11 และ จ.12ที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานว่า จำเลยและนายประยูรให้การชั้นสอบสวนไว้เช่นเดียวกันว่า จำเลยขอไม้สักแปรรูปของกลางทั้งหมดจากนายประยูรมาเก็บไว้ที่บ้านของจำเลย แต่จำเลยและนายประยูรพยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยขอไม้สักแปรรูปของกลางจากนายประยูร เฉพาะในส่วนที่ไม่เป็นเศษไม้ แต่มีตำหนิมาเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยเท่านั้น ส่วนไม้สักแปรรูปของกลางนอกนั้นเป็นเศษไม้ที่นายประยูร นำมาฝากจำเลยไว้ เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยมีไม้ดังกล่าวทั้งหมดไว้ในครอบครองหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยได้ให้การชั้นจับกุมตามบันทึกการตรวจยึดจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ไว้ว่านายประยูรนำไม้สักแปรรูปของกลางทั้งหมดมาฝากจำเลยเก็บไว้ก็มีแต่จำเลยเบิกความกล่าวอ้างเช่นนั้นลอย ๆ และที่จำเลยกับนายประยูรพยานจำเลยเบิกความไว้ดังกล่าวก็เป็นการกล่าวอ้างเช่นนั้นในภายหลังและขัดกับข้อความตามบันทึกให้การชั้นสอบสวนของจำเลยและนายประยูรเอง เมื่อจำเลยและนายประยูรไม่ได้เบิกความถึงเหตุผลที่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวว่ามิชอบอย่างใด ย่อมฟังได้ว่าจำเลยและนายประยูรให้การชั้นสอบสวนไว้ดังกล่าวโดยชอบ คำพยานจำเลยดังกล่าวจึงหามีน้ำหนักหักล้างข้อความตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวได้ไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยขอไม้สักแปรรูปของกลางทั้งหมดจากนายประยูรมาเก็บไว้ที่บ้านของจำเลย จำเลยจึงมีไม้สักแปรรูปของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครอง คงมีปัญหาต่อไปว่าการที่จำเลยมีไม้สักแปรรูปของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครองนั้น จำเลยจะมีความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีนายสมนึก รื่นเริงฤทธิ์ และนายอุระชาติ สุทธนะเจ้าพนักงานป่าไม้ สำนักงานป่าไม้เขตแพร่เป็นพยานเบิกความถึงการจับกุมจำเลยว่า เพราะจำเลยไม่มีหลักฐานแสดงการมีไม้สักแปรรูปของกลางไว้ในครอบครองได้และไม้สักแปรรูปของกลางเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ การที่จำเลยมีไม้นั้นไว้ในครอบครองจึงมีความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า จำเลยมีตัวจำเลยและนายประยูรเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า นายประยูรเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเอกสารหมาย ล.1และ ล.2 โดยซื้อไม้สักที่ถูกต้องตามกฎหมายจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มาใช้ในกิจการดังกล่าว ไม้สักแปรรูปของกลางเป็นส่วนหนึ่งของไม้ในกิจการดังกล่าวมาก่อนนายณรงค์ โทณานนท์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นนักวิชาการป่าไม้ 8กองวิจัยผลิตผลป่าไม้ ผู้เชี่ยวชาญของศาลทางพิสูจน์ไม้เบิกความประกอบกับรายงานผลการตรวจพิสูจน์ไม้สักแปรรูปของกลางเอกสารหมาย จ.6 ว่าพยานเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ไม้สักแปรรูปของกลางซึ่งจำเลยอ้างว่าไม้นั้นเป็นของนายประยูรเจ้าของโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรเพื่อประดิษฐกรรมมาก่อน พยานพิจารณาตามที่จำเลยกล่าวอ้างประกอบกับการตรวจพิสูจน์ไม้นั้นแล้ว เห็นว่า เป็นไปได้ว่าไม้สักแปรรูปของกลางเป็นไม้ที่นำมาจากโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรเพื่อประดิษฐกรรมของนายประยูรจริง และเห็นว่าน่าจะเป็นไม้ที่ถูกต้องหากว่าทางโรงงานแปรรูปไม้แห่งนั้นมีหลักฐานการได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย คำเบิกความของนายณรงค์พยานโจทก์ที่ว่า เป็นไปได้ว่าไม้สักแปรรูปของกลางเป็นไม้ที่นำมาจากโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรเพื่อประดิษฐกรรมของนายประยูรจริง จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยและนายประยูรพยานจำเลยให้รับฟังได้ว่า ไม้สักแปรรูปของกลางเป็นส่วนหนึ่งของไม้ในกิจการโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรของนายประยูรมาก่อน โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าไม้สักในกิจการแปรรูปไม้ของนายประยูรนั้นเป็นไม้ที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กลับปรากฏจากคำเบิกความของนายสมนึกและนายอุระชาติพยานโจทก์ว่านายสมนึกและนายอุระชาติต่างเคยไปที่โรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรของนายประยูร แต่ไม่เคยพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้มาก่อน ดังนั้นคำพยานจำเลยดังกล่าวที่ว่านายประยูรซื้อไม้สักที่ถูกต้องตามกฎหมายจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มาใช้ในกิจการโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรของนายประยูร จึงมีเหตุผลรับฟังได้ เพราะองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ไม้สักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ขายให้แก่นายประยูรย่อมเป็นไม้ที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้ กรณีดังวินิจฉัยถือได้ว่า ที่จำเลยมีไม้สักแปรรูปของกลางไว้ในครอบครองนั้น จำเลยมีหลักฐานแสดงว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้แล้ว เมื่อจำเลยมีไม้สักแปรรูปนั้นไว้ในครอบครองโดยมิใช่เพื่อการค้า จึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 50(3) ซึ่งบัญญัติว่า”บทบัญญัติแห่งมาตรา 48 มิให้ใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้
(1)
(2)
(3) การมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองที่มิใช่เพื่อการค้าโดยมีหลักฐานแสดงว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้”จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคแรก, 73 วรรคสอง ไม้สักแปรรูปของกลางจึงมิใช่ไม้อันได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ที่จะริบได้ ให้คืนแก่จำเลยเสีย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาในข้ออื่นอีกต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้คืนไม้สักแปรรูปของกลางแก่จำเลย

Share