คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4359/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การยอมรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีนจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยที่ 2 แล้วบันทึกว่า สอบจำเลยที่ 2 แล้ว ยืนยันให้การปฏิเสธ เท่ากับจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าว โดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (8) และมาตรา 227 วรรคแรก แม้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 59 เม็ด น้ำหนักรวม 5.49 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสามร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 จำนวนไม่แน่ชัดโดยทำให้ระเหิดเป็นควันแล้วสูดรับควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว ขวดเสพเมทแอมเฟตามีน 1 ขวด กระดาษตะกั่วมีคราบเมทแอมเฟตามีน 2 แผ่น ถุงพลาสติกใส 1 ถุง และกระดาษบัญชีรายชื่อ 3 แผ่น เป็นของกลาง ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามคดีหมายเลขแดงที่ 6489/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดคดีนี้ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพันโทษ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92 ริบของกลางและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ให้การปฏิเสธข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 (ที่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 57, 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 91 (ที่แก้ไขใหม่) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 57, 91 (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) จำคุกคนละ 1 ปี และให้ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือนและปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 5,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 1 ปี ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 4 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน รวมสองกระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและอยู่ระหว่างการศึกษา จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 48 ชั่วโมง (ที่ถูก ต้องระบุว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายสำหรับจำเลยที่ 3) ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การว่า จำเลยที่ 2 รับว่าเสพเมทแอมเฟตามีนจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 66, 91, 102 ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยที่ 2 แล้วบันทึกว่า สอบจำเลยที่ 2 แล้ว ยืนยันให้การปฏิเสธเท่ากับจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าว โดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (8) และมาตรา 227 วรรคแรก แม้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก เห็นว่า โจทก์มีร้อยตำรวจเอกอาวุธพนักงานสอบสวนเบิกความประกอบใบแจ้งผลการตรวจสอบสารเสพติดว่า ได้ส่งจำเลยที่ 2 ไปตรวจปัสสาวะที่โรงพยาบาลบางปะกอก 1 ผลการตรวจพบสารเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะของจำเลยที่ 2 ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน และจำเลยที่ 2 เบิกความเจือสมว่า เสพเมทแอมเฟตามีนนาน 1 เดือน ก่อนเกิดเหตุ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีร้อยตำรวจเอกหาญชัย และจ่าสิบตำรวจดุสิตผู้ร่วมตรวจค้นจับกุมเบิกความเป็นพยานว่า สายลับแจ้งว่ามีวัยรุ่นชาย 2 คน หญิง 1 คน ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ห้องพักหมายเลข 206 โรงแรม 19 อินน์ โดยชายวัยรุ่นที่ติดต่อลูกค้ามีลักษณะผอมสูง ฟันหลอด้านหน้า ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ แต่โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นชายวัยรุ่นที่ติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน หรือไม่ ขณะตรวจค้นห้องพักที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้อยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุ โจทก์ไม่ได้นำนายอนัน พนักงานโรงแรม 19 อินน์ มาเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยที่ 2 ออกจากห้องพักที่เกิดเหตุ คงอ้างส่งบันทึกคำให้การของนายอนัน จึงเป็นพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย แม้จำเลยที่ 3 จะเบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ติดต่อทางโทรศัพท์หาจำเลยที่ 2 ให้ไปรับแล้วไปเปิดห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อเสพเมทแอมเฟตามีนและรอไปเที่ยวกับเพื่อน ก็มีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด มีน้ำหนักน้อยเช่นกัน นอกจากนี้บันทึกการจับกุมระบุว่า เมื่อได้รับแจ้งจากสายลับแล้ว ร้อยตำรวจเอกหาญชัยกับพวกไปตรวจสอบห้องพักที่เกิดเหตุ เรียกบุคคลในห้องให้เปิดประตูโดยเคาะประตูห้อง 2 ถึง 3 ครั้ง สักครู่คนในห้องเปิดประตูจำเลยที่ 1 วิ่งเข้าไปในห้องน้ำนำเมทแอมเฟตามีนทิ้งในอ่างล้างหน้า และตรวจค้นพบกระดาษตะกั่วมีคราบเมทแอมเฟตามีนและขวดแก้วที่ทำเป็นบ้องสำหรับเสพเมทแอมเฟตามีนจึงยึดเป็นของกลาง ขัดแย้งกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกหาญชัยและจ่าสิบตำรวจดุสิตที่ว่าพบจำเลยที่ 2 เดินออกจากโรงแรม 19 อินน์ แล้วพาไปตรวจค้นห้องพักที่เกิดเหตุ หากพยานโจทก์ทั้งสองพบจำเลยที่ 2 ซึ่งมีลักษณะตรงตามที่สายลับแจ้ง และจำเลยที่ 2 แจ้งว่ามีเมทแอมเฟตามีนในห้องพักที่เกิดเหตุก่อนไปตรวจค้นห้องพักที่เกิดเหตุ พยานโจทก์ทั้งสองต้องให้จ่าสิบตำรวจวินัยเขียนบันทึกการจับกุมเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 ทำให้เป็นที่สงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองพบจำเลยที่ 2 เดินออกจากโรงแรม 19 อินน์ หรือไม่ แม้ชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมและเขียนยอมรับว่ากระดาษบัญชีรายชื่อเป็นบัญชีที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า และจำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม และขณะลงลายมือชื่อ ยังไม่มีกระดาษบัญชีรายชื่อ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดี แต่เพื่อให้จำเลยที่ 2 หลาบจำเห็นควรลงโทษปรับจำเลยที่ 2 อีกสถานหนึ่ง
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เนื่องจาก จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามคดีหมายเลขแดงที่ 6489/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น ปรากฏว่า ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ประกาศใช้บังคับมีผลให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา แต่จำเลยที่ 2 ฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งภายในกำหนด 1 ปี ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยที่ 2 ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share