แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองได้อ้างเหตุเพียงว่า การที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทรับจดทะเบียนการเพิ่มทุน แก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิและเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท พ.จำกัดจากโจทก์ที่1เป็นช.แทนตามคำขอจดทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องนั้น เป็นเพราะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหลงเชื่อตามรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท พ.จำกัดที่ช.และย. ร่วมกันจัดทำขึ้นโดยเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงไม่มีการประชุมกันและโจทก์ที่ 1 ก็มิได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว ดังนี้ แม้จะฟังว่ารายงานการประชุมนั้นเป็นรายงานเท็จ ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1ก็มิใช่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องได้ โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้น สิทธิของโจทก์ที่ 2 เกี่ยวกับกิจการของบริษัทจำกัดจึงมีอยู่เพียงการฟ้องร้องกรรมการที่ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทเท่านั้น หามีสิทธิฟ้องบุคคลภายนอกเกี่ยวกับกิจการของบริษัทจำกัดไม่ ดังนั้น กรณีที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมเพิกถอนการจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเอกสารท้ายฟ้อง หาได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ไม่ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2526 และครั้งที่ 1/2527 ของบริษัทพี.เอส.โฮเต็ล จำกัด เพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนและการเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัท พี.เอส.โฮเต็ล จำกัด ให้การจดทะเบียนในคำขอจดทะเบียนก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคงมีผลสมบูรณ์และบังคับจำเลยให้ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 เสีย หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน มีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองได้อ้างเหตุเพียงว่า การที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดระยองรับจดทะเบียนการเพิ่มทุนแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ และเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท พี.เอส.โฮเต็ล จำกัด จากโจทก์ที่ 1 เป็นนายเชิดชัย พินธุโสภณ แทนตามคำขอจดทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม2527 นั้น เป็นเพราะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหลงเชื่อตามรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2526 และครั้งที่ 1/2527 ของบริษัท พี.เอส.โฮเต็ล จำกัด ที่นายเชิดชัย และนายยงยุทธพินธุโสภณ ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงไม่มีการประชุมกันแต่อย่างใด และโจทก์ที่ 1 ก็มิได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว โจทก์ทั้งสองมิได้อ้างว่า การรับจดทะเบียนดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 เพราะเหตุนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการจดทะเบียนนั้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งการทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท พี.เอส.โฮเต็ล จำกัด ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทก็มิได้เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมดังกล่าว แม้จะฟังว่ารายงานการประชุมนั้นเป็นรายงานเท็จ ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ก็มิใช่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดระยองดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5ได้ ส่วนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นเพียงผู้ถือหุ้น ไม่มีอำนาจจัดการทำกิจการ หรือประกอบกิจการของบริษัท เพราะบริษัทจำกัดกฎหมายให้มีกรรมการจัดการตามข้อบังคับของบริษัทไว้แล้ว กรรมการบริษัทเพียงแต่อยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการได้ ในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 วรรคแรก ดังนั้น สิทธิของโจทก์ที่ 2 เกี่ยวกับกิจการของบริษัทจำกัดที่ตนถือหุ้นจึงมีอยู่เพียงการฟ้องร้องกรรมการที่ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทเท่านั้น หามีสิทธิฟ้องบุคคลภายนอกเกี่ยวกับกิจการของบริษัทจำกัดไม่ กรณีที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมเพิกถอนการจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5ดังกล่าวหาได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ไม่ โจทก์ที่ 2จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยปฏิเสธไม่เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไม่เจตนาโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง แล้วพิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน