คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางมิได้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ถ้าลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด เจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้แต่นั้นประกอบกับมาตรา 691 ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเบียดบังยักยอกสินค้าของโจทก์ และเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่ส่งมอบแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานฝ่ายพัฒนาการขาย มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน โดยไม่จำกัดวงเงิน เมื่อระหว่างเดือนกันยายน 2543 ถึงเดือนมิถุนายน 2544 จำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าสินค้าและไม่นำส่งโจทก์จำนวน 404,805.40 บาท กับได้เบียดบังสินค้าของโจทก์ไปหลายรายการเป็นเงิน 69,880 บาท ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินรวมกัน 474,685.40 บาท ได้ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 404,805.40 บาท นับแต่วันครบกำหนดเก็บเงินตามใบวางบิลค่าสินค้าฉบับสุดท้าย คือวันที่ 29 กรกฎาคม 2544 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,149.71 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 69,880 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าไปจากโจทก์ครั้งสุดท้ายคือวันที่ 16 มิถุนายน 2544 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,766.15 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงินรวมกัน 485,601.26 บาท และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเบียดบังสินค้าและเงินค่าสินค้าของโจทก์ แต่โจทก์เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าไม่ได้ จึงบังคับให้จำเลยที่ 1 เซ็นชื่อรับผิดแทนลูกค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่ขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยไม่จำกัดวงเงินและยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ระหว่างการปฏิบัติงานโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 เบียดบังสินค้าที่นำไปจำหน่ายและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินรวม 474,685.40 บาท ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้โจทก์ได้นำข้อมูลคดีนี้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ข้อหาฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ ซึ่งคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครเหนือแล้ว พร้อมทั้งมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์อันเป็นมูลหนี้ในคดีนี้ให้แก่โจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว และพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เบียดบังสินค้าของโจทก์และเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์ตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 474,685.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 หนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์จึงยังไม่แน่นอน ไม่อาจคำนวณหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้ ต้องยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ถ้าลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด เจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้แต่นั้น ประกอบกับมาตรา 691 ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นลูกหนี้ชั้นต้น ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ต่อไปได้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเบียดบังยักยอกสินค้าของโจทก์ และเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่ส่งมอบแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินรวม 474,685.40 บาท จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share