คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นอุทธรณ์โจทก์อุทธรณ์ว่า อาคารตึกแถวของโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากฐานรากเคลื่อนตัว เพราะฐานรากอาคารตึกแถวของจำเลยลึกกว่าฐานรากอาคารตึกแถวของโจทก์ มิได้อ้างว่าเกิดจากการรื้อถอนอาคารตึกแถวหลังเก่าของจำเลย ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าในการก่อสร้างอาคารตึกแถวของจำเลยได้มีการรื้อถอนอาคารหลังเก่าออกก่อน โดยทุบผนังอาคารดึงเสาอาคารเดิมซึ่งติดกับเสาอาคารตึกแถวของโจทก์ออก และทุบคานคอดินอาคารตึกแถวของโจทก์ ทำให้อาคารตึกแถวของโจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการอ้างเหตุแตกต่างกับเหตุที่โจทก์อ้างในชั้นอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 12666 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในอาคารตึกแถว 4 ชั้น เลขที่ 26 โดยก่อสร้างเมื่อปี 2526 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 25965 ตำบลในเมืองอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเดือนมิถุนายน2529 จำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างอาคารตึกแถว 4 ชั้น ลงบนที่ดินดังกล่าวโดยผนังอาคารตึกแถวด้านทิศเหนือติดกับผนังอาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสามด้านทิศใต้ตลอดแนวนอนและแนวตั้ง ในการนี้จำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาในแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ด้านทิศใต้ประมาณ 4 นิ้ว ยาว 17 เมตร สูง 19 เมตรและจำเลยทั้งสองปล่อยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทุบ เลื่อย สกัดฉุดกระชาก บริเวณก่อสร้างที่ดินแนวผนังอาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสามจนเป็นเหตุให้อาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสามแตกร้าวเสียหายจะต้องเสียค่าซ่อมแซมเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ส่วนที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารตึกแถวรุกล้ำเข้ามาในแดนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ที่ 1 จึงขอเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนผนังอาคารตึกแถวของจำเลยทั้งสองด้านทิศเหนือส่วนที่รุกล้ำเข้าในแดนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยมิให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่ผนังอาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสาม ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิรื้อถอนได้โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย หากไม่สามารถรื้อถอนได้ก็ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ก่อสร้างอาคารตึกแถวรุกล้ำเข้าไปในแดนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 แต่ได้เว้นระยะห่างจากอาคารตึกแถวเลขที่ 26 พอสมควร ในการก่อสร้างไม่ได้มีการกระทำใด ๆ ที่จะกระทบกระเทือนอาคารข้างเคียง การวางฐานรากก็ไม่มีการตอกเสาเข็ม ภาพถ่ายแสดงอาคารตึกแถวร้าวท้ายฟ้องมิได้เกิดจากการก่อสร้างอาคารตึกแถวของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ก่อสร้างอาคารตึกแถวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 1 และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าประเด็นที่ว่า อาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเนื่องจากการก่อสร้างอาคารตึกแถวของจำเลยทั้งสองหรือไม่ นั้นในชั้นอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า อาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเนื่องจากฐานรากเคลื่อนตัว เพราะฐานรากอาคารตึกแถวของจำเลยทั้งสองลึกกว่าฐานรากอาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสาม 35เซนติเมตร มิได้อ้างว่าเกิดจากการรื้อถอนอาคารตึกแถวหลังเก่าของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ในการก่อสร้างอาคารตึกแถวของจำเลยทั้งสองได้มีการรื้อถอนอาคารหลังเก่าออกก่อนโดยทุบผนังอาคาร ดึงเสาอาคารเดิมซึ่งติดกับเสาอาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสามออก และทุบคานคอดินอาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสามทำให้อาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย จึงเป็นการอ้างเหตุแตกต่างกับเหตุที่โจทก์ทั้งสามอ้างในชั้นอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share