คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปู่ร่วมซื้อกรรมสิทธิที่ดินร่วมกับผู้อื่นคนละครึ่ง ภายหลังปู่ย่าและบิดาถงแก่กรรมหมด คงเหลือแต่หลานเป็นทายาท หลานย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินนั้นครี่งหนี่งได้
ในเรื่องหน้าที่นำสืบนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้ฝ่ายใดนำสืบก่อนแล้วฝ่ายนั้นไม่ยื่นคำโต้แย้งคำสั่งนั้นตามมาตรา 226 ( 2 )แล้ว ก็หมดสิทธิอุทธร์ฎีกาในข้อนี้
พ.ร.บ.ที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว 2486 ไม่ได้ห้ามมิให้คนต่างด้าวมีที่ดินเสียทีเดียวและการที่มีที่ดินมาก่อนแล้ว ไม่ได้ไปจดทะเบียนก็ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินของเขาตกไปเป็นของคนอื่น.

ย่อยาว

ได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๗๑ จำเลยไปทำสัญญาซื้อที่ดินรายพิพาทที่อำเภอ จากนางจูเบียจ เป็นเงิน ๓๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๗๗ จำเลยได้ทำหนังสือให้นายกงห้วย ปู่โจทก์ที่อำเภอมีข้อความว่า”ในการซื้อขายที่ดินรายนี้ (หมายถึงที่พิพาท)นายกงห้วยกับนางท้อ (คือจำเลย)ได้ร่วมทุนกัยซื้อคนละ ๑๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๐๐ บาท ทั้งนี้เพื่อให้เป็นหลักฐาน จึงได้ทำหนังสือฉบับนี้ เพื่อแสดงว่า ผู้ซื้อทั้งสองคนดังกล่าว มีส่วนได้ที่ดินรายนี้ร่วมกันเท่านั้นฯลฯ”ต่อมา นายกิมห้วยไปเมืองจีน แล้วถึงแก่กรรมที่เมืองจีนนางกิมกี่ผู้เป็นภรรยาก็ถึงแก่กรรม นางสาวไล้จี้ บุตรนายเป้า จึงขอแบ่งที่พิพาทจากจำเลยกึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยอม จึงฟ้องขอให้แสดงว่าที่พิพาทเป็นของนายกงห้วยครึ่งหนึ่ง (ตีราคา ๓๐๐๐ บาท ) ซึ่งตกทอดได้แก่โจทก์ในทางมฤดก
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว หนังสือที่จำเลยทำให้ไว้เป็นนิติกรรมอำพลาง ความจริงเป็นเรื่องจำเลยกู้เงินนายกงห้วย นางกงห้วยเป็นคนต่างด้าว จะมีกรรมสิทธิที่ดินไม่ได้ ทั้งไม่ได้ไปขอจดทะเบียนสิทธิในที่ดินตาม พ.ร.บ.ที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ.๒๔๘๖
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของนายกงห้วยกับจำเลยคนละครึ่ง ส่วนของนายกงห้วยได้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม
ศาลอุทธณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังที่กล่าวแล้วตามศาลล่าง ส่วนข้อกฏหมายที่เรื่องน่าที่นำสืบปรากฏว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยนำสืบก่อน จำเลยหาได้ยื่นคำโต้แย้งคำสั่งนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง.มาตรา ๒๒๖(๒) ไม่ จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ข้อที่จำเลยอ้างถึง พ.ร.บ.ที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ.๒๔๘๖ โดยกล่าวว่าคนต่างด้าวจะมีกรรมสิทธิที่ดินในประเทศไทยไม่ได้ ถ้ามีกรรมสิทธิมาก่อน จะต้องขอจดทะเบียน แต่นายกงห้วยหรือทายาทมิได้เคยปฏิบัติดังกล่าวมานี้ เห็นว่า กฏหมายมิได้ห้ามมิให้คนต่างด้าวมีที่ดินเสียทีเดียว และการที่มีที่ดินมาก่อนแล้ว ไม่ได้จดทะเบียน ก็ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินของเขาตกไปเป็นของคนอื่น หรือของจำเลย รูปคดีของจำเลยไม่มีทางชะนะคดี
พิพากษายืน

Share