แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 26 (4) บัญญัติว่า “ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น” ดังนั้น ที่ดินพิพาทเมื่อยังมิได้มีการ ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน แม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินออกมาแล้วก็ตาม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองกับพวกตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔, ๖, ๙, ๑๔, ๓๑, ๓๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจาก ป่าสงวนแห่งชาติ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองแต่ให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี และให้จำเลยทั้งสองกับบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ (ปัจจุบันศาลอุทธรณ์ภาค ๓) พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ต่อมาจำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องว่า มีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ ไม่เป็นความผิดต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าจำเลยที่ ๒ ไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยที่ ๒ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒, ๓ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์และขอทุเลาการบังคับเพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับ และศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องในคดีนี้
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ว่า ที่ดินพิพาทถูกเพิกถอนจากการเป็น ป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ โจทก์มีนายสุพรม ทวีเงิน และนายสุปรีชา ศิวารัตน์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูแลนคาด้านทิศใต้ ตำบลช่องสามสมอ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ตามแผนที่ โดยพื้นที่อยู่ในโซนซี ตรงบริเวณที่จุดด้วยหมึกสีแดงไว้ โดยพื้นที่โซนซียังมิได้ส่งมอบให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน และยังคงเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่กรมป่าไม้ยังต้องดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ส่วนจำเลยที่ ๒ ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เป็นอย่างอื่นเมื่อพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๖ (๔) บัญญัติว่า “ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใด ในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น” ดังนั้น ที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในโซนซี เมื่อยังมิได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน แม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินออกมาแล้วก็ตาม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม เมื่อที่๖พิพาทยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติดังได้วินิจฉัยมาแล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ ๒ อีกต่อไป เพราะจะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน