คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4324/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า “…จำเลยได้ใส่ความโจทก์ต่ออธิบดี…ด้วยเอกสารฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2545 มีข้อความว่า “…ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จความจริงโจทก์ไม่เคยแอบอ้างว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ…แต่ประการใด การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยทำให้ปรากฏเป็นตัวอักษร ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์…” โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 โดยการโฆษณาอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตามมาตรา 328 มาด้วยก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นไม่สามารถจะยกข้อกฎหมายตามมาตรา 329 (1) (3) ขึ้นวินิจฉัยได้ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ว่า หากข้อเท็จจริงตามที่รับฟังดังทางไต่สวนมูลฟ้องต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกข้อความจริงนี้ขึ้นเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยคดีได้ หาใช่เรื่องจำกัดเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นกรณีที่จำเลยเท่านั้นที่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นแล้วพิพากษายืนดังนั้นที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ข้อความที่จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ปรากฏในเอกสารต้องอ่านทั้งหมด มิใช่ยกข้อความตอนใดตอนหนึ่งแล้วแปลว่าไม่มีข้อความหมิ่นประมาท เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติให้เช่าพื้นที่ขายสินค้า ต่อมาจำเลยประสงค์จะเช่าพื้นที่ จึงใช้เล่ห์เพทุบายทำหนังสือดังกล่าวให้สอบสวนว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงมิใช่กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ฎีกาโจทก์ดังกล่าวมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไร และที่ถูกต้องเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดเจนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้จะมีการอนุญาตให้ฎีกามาก็ตาม ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ได้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่ออธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนด้วยเอกสารฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2545 มีข้อความว่า “ตามที่ทางบริษัทได้ทราบมาบริษัทไทยพัฒนาชุมชน จำกัด ได้นำชื่อโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มาใช้ในการขอพื้นที่ต่อทาง ทอท. ทั้งที่บริษัทฯ ดังกล่าวเป็นเพียงนิติบุคคลทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐที่ดำเนินโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งการดำเนินโครงการของบริษัทไทยพัฒนาชุมชน จำกัด ก็มิได้ร้องขอหรือมิได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิดภัณฑ์ แต่อย่างใดเลยเช่นกัน ทางบริษัทฯ จึงมีความเห็นว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่โครงการสำคัญระดับชาติจะถูกแอบอ้างนำมาใช้เพียงเพื่อการเอื้อประโยชน์ในการขอพื้นที่จาก ทอท. และอาจนำมาซึ่งการดำเนินโครงการที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์และเจตนาที่รัฐบาลได้วางไว้ในการนี้ทางบริษัทฯ จึงใคร่เรียนมายังโครงการพัฒนาชุมชน เพื่อโปรดพิจาณาออกหนังสือถึง ทอท. เพื่อขอร้องให้ ทอท.เพื่อระงับการอนุญาตให้บริษัทไทยพัฒนาชุมชน จำกัด ใช้พื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างมิให้เกิดการนำเอาโครงการของรัฐมาแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนต่อไปในอนาคต ขอแสดงความนับถือ นายวิรัตน์ (กรรมการผู้จัดการ)” ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่เคยแอบอ้างว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐในการจำหน่ายสินค้าตามโครงการหนึ่ตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และมิได้นำเอาโครงการของรัฐมาแอบอ้างในการขอเช่าพื้นที่กับการท่าอากาศยาน การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ ด้วยทำให้ปรากฏเป็นตัวอักษร ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม พยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยใส่ความโจทก์ คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ส่วนความผิดตามมาตรา 326 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายนั้นวินิจฉัยว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลมีอำนาจหยิบยกข้อความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) ขึ้นเป็นเหตุผลวินิจฉัยคดีได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องเป็นการกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า “…จำเลยได้ใส่ความต่อโจทก์อธิบดี…ด้วยเอกสารฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2545 มีข้อความว่า “…ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ไม่เคยแอบอ้างว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ…แต่ประการใด การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยทำให้ปรากฏเป็นตัวอักษร ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์…” โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 โดยการโฆษณา อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม มาตรา 328 มาด้วยก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อมาที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เข้ากรณีข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นไม่สามารถจะยกข้อกฎหมายตามมาตรา 329 (1) (3) ขึ้นวินิจฉัยได้ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ว่า หากข้อเท็จจริงตามที่รับฟังดังทางไต่สวนมูลฟ้องต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกข้อความจริงนี้ขึ้นเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยคดีได้หาใช่เรื่องจำกัดเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นกรณีที่จำเลยเท่านั้นที่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นแล้วพิพากษายืน ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ข้อความที่จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ต้องอ่านทั้งหมด มิใช่ยกข้อความตอนใดตอนหนึ่งแล้วแปลว่าไม่มีข้อความหมิ่นประมาท เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติให้เช่าพื้นที่ขายสินค้า ต่อมาจำเลยประสงค์จะเช่าพื้นที่ จึงใช้เล่ห์เพทุบายทำหนังสือดังกล่าวให้สอบสวนว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงมิใช่กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ฎีกาโจทก์ดังกล่าวมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไร และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดเจนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 แม้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหานี้และศาลชั้นต้นสั่งรับมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาประการสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์มีมูลเป็นความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้จะมีการอนุญาตให้ฎีกามาก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ได้เช่นกัน”
พิพากษายืน

Share