คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นบุตรของหญิงสัญชาติไทยกับชายญวนอพยพ ซึ่งเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องเกิดในประเทศไทยและต่อมาถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ดังนี้ ผู้ร้องไม่ใช่ ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ไม่มีข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับการเข้าเมือง จะมาใช้สิทธิทางศาลร้องขอพิสูจน์สัญชาติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ไม่ได้ หากเห็นว่า การถูกเพิกถอนสัญชาติเป็นไปโดยมิชอบประการใด ก็ชอบที่จะฟ้อง ผู้ที่โต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อศาล

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่าผู้ร้องที่ ๑ เป็นมารดาผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ผู้ร้องที่ ๑ มีสัญชาติไทยผู้ร้องที่ ๑ ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากันกับนายเขียน เหงี่ยนซวาน คนญวนอพยพโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน ๗ คน คือผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ทุกคนเกิดในประเทศไทย เป็นบุคคลสัญชาติไทย ไม่เคยสละสัญชาติไทย ต่อมาผู้ร้องที่ ๑ กับนายเขียนได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่สำนักกิจการญวนจังหวัดนครพนมให้แจ้งชื่อบุตรทุกคนลงในบัญชีและทะเบียนบ้านของคนญวนอพยพโดยอ้างว่าผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ผู้ร้องจึงจำต้องแจ้งชื่อต่อนายทะเบียน ผู้ร้องเคยขอให้นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองนครพนมจดแจ้งชื่อผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ลงในทะเบียนบ้านของผู้ร้องที่ ๑ เจ้าพนักงานอ้างว่าไม่มีใบแจ้งย้ายออก ไม่ได้เป็นคนไทย และถูกถอนสัญชาติแล้วเว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเสียก่อน ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครพนม เจ้าพนักงานปฏิเสธว่าผู้ร้องทุกคนไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะร้องขอได้และถูกถอนสัญชาติแล้ว หากไม่พอใจก็ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาล ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ การที่ทางราชการสั่งเช่นกัน เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจำต้องใช้สิทธิทางศาลร้องขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นบุคคลสัญชาติไทย
พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติญวน และตามคำร้องของผู้ร้องได้แสดงโดยแจ้งชัดว่า มีผู้โต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องต้องทำเป็นคำฟ้องเพราะเป็นคดีมีข้อพิพาทไม่ใช่คดีร้องขอพิสูจน์สัญชาติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง นายเขียนเป็นคนญวนอพยพที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวและเป็นเพียงผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แม้จะฟังว่าผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นบุตรของผู้ร้องที่ ๑ โดยเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ก็ถูกถอนสัญชาติไทยแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗และการที่ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ มีชื่ออยู่ในทะเบียนคนญวนอพยพ ถือได้ว่าผู้ร้องได้แปลงสัญชาติไทยเป็นคนต่างด้าว ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ย่อมเสียสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติไทย พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๒๒ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย และยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นบุคคลสัญชาติไทยมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ ๑ ที่ร้องในฐานะส่วนตัว
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องทั้งแปดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับผู้ร้องที่ ๑ ปรากฏว่าไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คดีเฉพาะตัวผู้ร้องที่ ๑ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้ร้องที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาในชั้นฎีกาเฉพาะผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ เป็นบุตรของผู้ร้องที่ ๑ กับนายเขียน เหงียนซวานซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ เกิดในประเทศไทยต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๖ ตำรวจสำนักกิจการญวนจังหวัดนครพนมได้จดชื่อผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ลงในทะเบียนบ้านของคนญวนอพยพ และผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ปัญหามีว่าผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ จะร้องขอพิสูจน์สัญชาติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้หรือไม่ พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๕๗ บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ฯลฯ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าว จนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย
การพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้ ฯลฯ” เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวใช้คำว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้” แสดงว่า กฎหมายมาตรานี้มุ่งหมายเพื่อให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น ซึ่งความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติคำว่า “คนเข้าเมือง” หมายความว่าคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร ความตามมาตรา ๕๗ ดังกล่าว จึงเห็นได้ว่ามีความมุ่งหมายเฉพาะคนที่เข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น ไม่หมายความรวมถึงคนที่เกิดในประเทศไทยดังเช่นผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ด้วย นอกจากนี้ตามแบบคำขอพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งผู้ทำคำขอจะต้องยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.๑๐) ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๕ ก็มีรายการให้ผู้ทำคำขอเข้ามาในประเทศไทยต้องระบุเกี่ยวกับยานพาหนะ วันเดือนปีที่เข้ามาในประเทศไทยด้วย แสดงให้เห็นว่าการขอพิสูจน์สัญชาติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้นผู้ขอจะต้องเป็นคนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยแต่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่โต้แย้งเกี่ยวกับการเข้ามาในราชอาณาจักรว่าเป็นคนต่างด้าว จึงจะร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ และเมื่อไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ดังนั้นในกรณีของผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแต่เป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย ผู้ร้องจึงไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเข้าเมือง จึงไม่อาจยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ วรรคสอง และดังนั้นจึงไม่อาจใช้สิทธิทางศาล เมื่อไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวตามกฎหมายมาตราเดียวกัน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๕๗/๒๕๒๗ ระหว่าง นายมนตรี เสนาะวาที ในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายมนต์ชัย เสนาะวาที และเด็กหญิงมัลลิกา เสนาะวาที บุตรผู้เยาว์ ผู้ร้องพนักงานอัยการจังหวัดนครพนม ผู้คัดค้าน พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ไม่ได้มุ่งหมายบังคับถึงผู้มีส่วนได้รับผลกระทบกระเทือนโดยตรงจากบทกฎหมาย ดังกล่าว ดังเช่นที่ผู้ร้องอาจว่าผู้ร้องอาจถูกส่งกลับออกไปจากราชอาณาจักรด้วย ดังนั้นผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ จะใช้สิทธิทางศาลโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ร้องขอพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ หากผู้ร้องเห็นว่าการถูกเพิกถอนสัญชาติเป็นไปโดยมิชอบประการใด อันเป็นการโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ร้องซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ผู้ร้องก็ชอบที่จะฟ้องผู้ที่โต้แย้งสิทธิเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อศาล หาชอบที่จะใช้สิทธิร้องต่อศาลเช่นคดีนี้ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๘/๒๕๒๔ ที่ผู้ร้องอ้างมาเป็นเรื่องวินิจฉัยเกี่ยวกับการถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิร้องขอต่อศาลดังเช่นคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ ๒ ถึงที่ ๘ ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share