แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การกู้ยืมเงินมิได้กำหนดอายุความโดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) และตามมาตรา 169(เดิม)บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไป” เมื่อสัญญากู้เงิน ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนแรกภายในวันที่30 พฤศจิกายน 2527 การที่จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เลยจึงเป็นการผิดสัญญาซึ่งสัญญากู้เงินข้อ 6 ระบุว่า โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยได้ ถือได้ว่า ระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญา อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 49,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2528 โดยจำเลยที่ 1 รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากกู้ยืมเงินไปแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดชำระถึงวันฟ้องเพียง 5 ปี เป็นเงิน18,375 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 67,375 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 49,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 49,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่คำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 18,375 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 (ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลอุทธรณ์ภาค 6) พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 49,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกเดือน กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2528 ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 หลังจากกู้ยืมเงินแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การกู้ยืมเงินมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) และตามมาตรา 169(เดิม) (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป …” ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนแรกภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เลย จึงเป็นการผิดสัญญา ซึ่งสัญญากู้เงินข้อ 6 ระบุว่าโจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยได้ ถือได้ว่าระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญาอายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์