คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4312/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) และตามมาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรก คือ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและประพฤติผิดสัญญากู้เงิน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2527 โดยไม่จำต้องรอให้ครบกำหนดชำระต้นเงินคืน อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 นับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2527 ถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินโจทก์ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี โดยจำเลยที่ ๑ รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากกู้ยืมเงินไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่เคยชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยกู้ยืมเงินและไม่เคยทำสัญญากู้กับโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๔๙,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่คำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๙) (ที่ถูกคือ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘) ไม่เกิน ๑๘,๓๗๕ บาท กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ (ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลอุทธรณ์ภาค ๖ ) พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และฎีการวม ๒,๘๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๑ ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ วินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน ๔๙,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกเดือน กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ หลังจากกู้ยืมเงินแล้วจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การกู้ยืมเงินมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ (เดิม) (มาตรา ๑๙๓/๓๐ ที่แก้ไขใหม่) และตามมาตรา ๑๖๙ (เดิม) (มาตรา ๑๙๓/๑๒ ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” ตามสัญญาเงินกู้กำหนดให้จำเลยที่ ๑ จะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนแรกภายในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เลย จึงเป็นการผิดสัญญา ซึ่งสัญญากู้เงินข้อ ๖ ระบุว่า โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยได้ ถือได้ว่าระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๗ เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญา อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ อายุความนั้นเกิน ๑๐ ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share