คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อและแจกจ่ายตามฟ้องนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าวขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2) ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 และมาตรา 74 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมาตรา 83 และขอให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง แต่จำเลยที่ 3 หลบหนีจึงออกหมายจับและสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1), 31 (3), 69 วรรคสอง และ 70 วรรคสอง อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานทำซ้ำซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี และปรับ 300,000 บาท ความผิดฐานแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน และปรับ 150,000 บาท รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 600,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และปรับ 450,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี ให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยการทำซ้ำและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า โจทก์ได้มอบหมายให้นายสตีเฟ่นไปล่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 จากพนักงานขายของจำเลยที่ 1 ที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 มาได้ 1 เครื่อง ต่อมาโจทก์ได้ให้นายสรวุฒิซึ่งมีความรู้ทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ตรวจสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อมาได้ดังกล่าว พบว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์โดยทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวร (Hard disk) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ซึ่งแสดงว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน แต่โจทก์เลือกดำเนินคดีนี้โดยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในการดำเนินคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ซึ่งให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ดังนี้ ในการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ได้นั้น นอกจากโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามคำฟ้องของโจทก์จริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 แล้ว ยังต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2) ด้วย คดีนี้แม้วัตถุพยานคือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ดำเนินการว่าจ้างนายสตีเฟ่นไปล่อซื้อมาได้จะสามารถนำมาตรวจสอบได้ว่ามีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ และมีการแจกจ่ายให้แก่นายสตีเฟ่นผู้ไปล่อซื้อ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบโดยมีจำเลยที่ 2 และพนักงานขายของจำเลยที่ 1 หลายคนมาเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ขายเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์แก่ลูกค้าเท่านั้น จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งห้ามพนักงานลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายในเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 เครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยที่ 1 ผลิตและลงโปรแกรมที่ถูกต้องเพื่อใช้ทดลองเครื่องเสร็จแล้วจะลบโปรแกรมดังกล่าวออกทั้งหมดก่อนส่งมอบแก่ผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นหรือร่วมกระทำการทำซ้ำและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามฟ้อง และพยานหลักฐานสำคัญของโจทก์ได้แก่คำเบิกความของนายสตีเฟ่นประจักษ์พยานที่เบิกความประกอบเทปบันทึกการสนทนาในการติดต่อซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์และข้อความการสนทนาที่บันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมคำแปล ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาจากการที่โจทก์ว่าจ้างให้นายสตีเฟ่นไปล่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม นายสตีเฟ่นย่อมเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในการรับจ้างทำงานให้แก่โจทก์ จึงเป็นพยานหลักฐานที่ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง และเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์แล้ว ปรากฏว่า ตามคำเบิกความของนายสรวุฒิผู้ตรวจสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อมาได้ดังกล่าวได้ความว่า การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรนี้ กระทำโดยการบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรอีกเครื่องหนึ่งที่เป็นเครื่องต้นแบบ ในลักษณะถ่ายสำเนาเหมือนกันทั้งหมด (Track by track) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรต้นแบบดังกล่าวก็เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บันทึกไว้โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เช่นกัน แต่คดีนี้โจทก์ไม่มีแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน และไม่ปรากฏว่าเป็นแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของใคร เก็บไว้ที่ไหนอย่างไร ใครเป็นผู้ทำซ้ำลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลเครื่องต้นแบบนี้ไว้ ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ของโจทก์ โดยการทำสำเนาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวบรรจุลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวให้แก่ลูกค้าของจำเล ยในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย และแจกจ่ายให้แก่ลูกค้านั้น ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ซึ่งตามคำฟ้องดังกล่าวแสดงว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยทำซ้ำลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยมีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ขาย และแจกจ่ายนั้นเป็นโปรแกรมอันเดียวกัน ซึ่งได้แก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ลงไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการล่อซื้อมาได้ตามที่โจทก์นำสืบนั่นเอง นอกจากนี้นายสตีเฟ่นเบิกความประกอบบันทึกข้อความการสนทนากับผู้ขายว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 พยานไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ที่อาคารพญาไทพลาซ่า และติดต่อขอซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลยที่ 1 พยานได้แจ้งถึงความต้องการใช้งานที่ทำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนว่า ต้องการใช้ทำงานเกี่ยวกับการทำจดหมายหรือเอกสารหรือเวิร์ดโปรเซสซิง โปรแกรมเกี่ยวกับการทำบัญชี การทำฐานข้อมูลและการทำรูปภาพต่าง ๆ จำเลยที่ 3 ก็บอกชื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งานดังกล่าว และจำเลยที่ 3 ยังบอกว่าครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งานต่าง ๆ ดังกล่าวติดตั้งอยู่ในเครื่องด้วย แต่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้จากเจ้าของลิขสิทธิ์ และราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยที่ 1 ขายนั้นรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวนี้ด้วยแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้แสดงการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ให้พยานดู เช่น โปรแกรมวินโดว์ 95 และโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ แต่ก็ได้ความว่า จำเลยที่ 3 ยังบอกพยานด้วยว่า ถ้าพยานต้องการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับอนุญาตก็มีขายให้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ในที่สุดพยานก็ตกลงซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์กับจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้ตกลงซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับอนุญาตที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มตามที่จำเลยที่ 3 บอกให้ทราบแล้วแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า นายสตีเฟ่นตกลงซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์โดยต้องการให้มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 ด้วย ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความนายสตีเฟ่นและบันทึกการสนทนาพร้อมคำแปลอีกว่า จำเลยที่ 3 บอกพยานว่าจะต้องใช้เวลาในการประกอบเครื่องและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงนัดให้พยานมารับเครื่องวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ครั้นถึงวันนัดรับเครื่อง พยานก็เดินทางไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยที่ 3 พาพยานไปที่ห้องแสดงสินค้าและได้พบกับช่างชื่อนายนัทหรือคันธสิทธิ พบกล่องเปล่าวางที่พื้นและเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมจอภาพวางอยู่บนโต๊ะ จำเลยที่ 3 กับนายนัทได้สาธิตการใช้เครื่องให้พยานดูจนเป็นที่พอใจแล้ว พยานจึงชำระเงินค่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 33,900 บาทให้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3 นำใบเสร็จรับเงินและใบรับประกันของจำเลยที่ 1 ให้พยาน และจำเลยที่ 3 กับนายนัทนำเครื่องคอมพิวเตอร์บรรจุลงกล่องปิดผนึก พยานได้ดูใบเสร็จรับเงินที่มีข้อความเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ซึ่งหมายถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงสอบถามจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ตอบว่า ซอฟต์แวร์นี้ไม่ได้รับอนุญาต จึงมีการเขียนในใบเสร็จรับเงินว่า เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) แต่ที่จริงเครื่องคอมพิวเตอร์นี้มีซอฟต์แวร์อยู่ เวลาที่บริษัทจำเลยที่ 1 ส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ลูกค้า จำเลยที่ 1 จะลบซอฟต์แวร์ทั้งหมด เพราะว่าไม่ได้รับอนุญาต แต่ถ้าคนใช้งานนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปใช้งานที่บ้านก็ไม่จำเป็นที่จะมีใบอนุญาต พยานถามอีกว่ามีการเขียนว่าไม่มีซอฟต์แวร์แต่จริง ๆ มีซอฟต์แวร์อยู่ จำเลยที่ 3 ก็ตอบว่า ผมให้ซอฟต์แวร์คุณ จากคำเบิกความของนายสตีเฟ่นและบันทึกการสนทนาพร้อมคำแปลดังกล่าว เห็นได้ว่า แม้ในตอนแรกนายสตีเฟ่นเบิกความถึงคำพูดของจำเลยที่ 3 ที่พูดกับนายสตีเฟ่นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งานตามที่นายสตีเฟ่นแจ้งแก่จำเลยที่ 3 ติดตั้งอยู่แล้ว แต่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตและราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ขายรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวด้วยแล้ว และจำเลยที่ 3 ยังบอกว่า จะต้องมีการประกอบเครื่องและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงนัดให้นายสตีเฟ่นมารับเครื่องในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 อันมีลักษณะที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องอยู่ก่อนที่นายสตีเฟ่นจะไปล่อซื้อ แต่จะมีการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลังจากที่นายสตีเฟ่นตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 แล้ว และปรากฏว่าในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 เมื่อนายสตีเฟ่นไปรับเครื่องและได้สอบถามเกี่ยวกับข้อความในใบเสร็จรับเงินที่ระบุว่าไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) จำเลยที่ 3 กลับบอกว่า จำเลยที่ 1 จะลบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมดออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ส่งให้แก่ลูกค้า แต่ซอฟต์แวร์นี้จำเลยที่ 3 ให้นายสตีเฟ่น ซึ่งคำพูดของจำเลยที่ 3 ในตอนหลังนี้ส่อแสดงให้เห็นทำนองว่า ตามปกติจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการลงโปรแกรมให้แก่ผู้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด แต่จำเลยที่ 3 ต้องการแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวให้แก่นายสตีเฟ่นตามที่ได้ตกลงกันไว้ในวันที่นายสตีเฟ่นไปล่อซื้อ นอกจากนี้พยานโจทก์ไม่มีผู้ใดเบิกความยืนยันได้ว่าการทำซ้ำลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อนั้น ได้กระทำที่ไหน กระทำเมื่อใด แต่ปรากฏจากคำเบิกความของนายสตีเฟ่นดังกล่าวอีกว่า ในวันที่นายสตีเฟ่นไปรับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น จำเลยที่ 3 พานายสตีเฟ่นไปที่ห้องแสดงสินค้าและพบกับช่างชื่อนายนัท ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้อยู่ในกล่อง แต่ถูกนำมาตั้งบนโต๊ะแล้ว ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ที่โรงงานเสร็จ และได้ส่งไปที่สำนักงานจำเลยที่ 1 อาคารพญาไทพลาซ่า เพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อคือนายสตีเฟ่นแล้ว หลังจากนั้นในช่วงระยะเวลาก่อนที่นายสตีเฟ่นจะมารับเครื่องตามเวลาที่นัดไว้มีผู้นำเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นออกจากกล่องมาวางบนโต๊ะ จึงมีความเป็นไปได้ที่พนักงานของจำเลยที่ 1 อาจนำแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบเข้ามาใช้เป็นต้นแบบบันทึกถ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไปในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่นายสตีเฟ่นล่อซื้อในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า พยานหลักฐานของโจทก์เองแสดงให้เห็นว่า การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นายสตีเฟ่นล่อซื้อนั้น เป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจากวันที่นายสตีเฟ่นไปล่อซื้อแล้ว โดยเป็นการทำซ้ำเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำนั้นให้แก่นายสตีเฟ่นตามที่นายสตีเฟ่นได้ล่อซื้อนั่นเอง มิใช่เป็นการทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ ดังนี้ จึงน่าเชื่อว่าการที่มีผู้กระทำผิดด้วยการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อและแจกจ่ายตามฟ้องนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของนายสตีเฟ่นซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าวขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2) ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2

Share