แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (4) มิได้บังคับว่าศาลต้องทำการไต่สวนทุกกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอเข้ามา แต่ศาลมีอำนาจจะไต่สวนตามคำขอหรือไม่แล้วแต่ศาลจะพิจารณาเห็นสมควร กรณีศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องเพราะเห็นว่าคำร้องขอของจำเลยไม่ต้องด้วยมาตรา 307 ดังนี้ แม้จะไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องขอก็ไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอนั้นได้ จึงชอบแล้ว
แม้จำเลยจะมีสำนักงานตั้งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์ รายได้จากการเป็นทนายความของจำเลยก็เกิดจากการประกอบวิชาชีพของจำเลยนั่นเอง รายได้จากการใช้วิชาชีพดังกล่าวไม่ใช่เป็นการค้าหรือมีลักษณะคล้ายคลึงใกล้เคียงกับการประกอบการพาณิชยกรรม จึงถือไม่ได้ว่าเป็นรายได้จากอสังหาริมทรัพย์หรือรายได้จากการประกอบพาณิชยกรรม ในอันที่จะให้ศาลมีคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307
ย่อยาว
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและมีอาชีพเป็นทนายความ มีสำนักงานตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๒๖/๖ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดเพื่อขายทอดตลาด จำเลยมีรายได้จากการประกอบอาชีพทนายความ หากมีการขายทอดตลาดจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๗ แทนการสั่งขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีของจำเลยไม่ต้องด้วยมาตรา ๓๐๗ เพราะมิใช่รายได้ประจำปีจากอสังหาริมทรัพย์โดยตรง รายได้ของจำเลยไม่แน่นอน ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา ๒๑ (๔) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้บังคับว่าศาลต้องทำการไต่สวนทุกกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอเข้ามา แต่ศาลมีอำนาจจะไต่สวนตามคำขอหรือไม่ แล้วแต่ศาลจะพิจารณาเห็นสมควร กรณีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องเพราะเห็นว่าคำร้องขอของจำเลยไม่ต้องด้วยมาตรา ๓๐๗ ดังนี้ แม้จะไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องขอก็ไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอนั้นได้และแม้จำเลยจะมีสำนักงานตั้งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์จริง รายได้จากการเป็นทนายความของจำเลยก็เกิดจากการประกอบอาชีพของจำเลยนั่นเอง รายได้จากการใช้วิชาชีพดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการค้าหรือลักษณะคล้ายคลึงใกล้เคียงกับการประกอบการพาณิชยกรรม จึงถือไม่ได้ว่าเป็นรายได้จากอสังหาริมทรัพย์หรือรายได้จากการประกอบพาณิชยกรรม ในอันที่จะให้ศาลมีคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๗
พิพากษายืน