แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาขายฝากที่จำเลย(ภริยาผู้ร้องสอด) ทำไว้กับโจทก์ จำเลยและผู้ร้องสอด(สามีจำเลย) ต่อสู้ยืนยันว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทำนิติกรรมผูกพันสินบริคณห์โดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอดและไม่ได้ให้สัตยาบันจึงบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อโจทก์กล่าวแก้แต่เพียงว่าผู้ร้องสอดมิได้เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ประเด็นคงมีว่าผู้ร้องสอดกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นไปถึงเรื่องภริยาร้างในระหว่างภริยาทำนิติกรรมขายฝากให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่
เมื่อภริยาทำนิติกรรมผูกพันสินบริคณห์โดยมิได้รับความยินยอมจากสามีและสามีไม่ได้ให้สัตยาบันสามีจึงบอกล้างนิติกรรมนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่านางปินจำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่บ้านหนึ่งแปลงพร้อมด้วยเรือนและยุ้งข้าว ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ มีกำหนด ๑ ปี พ้นกำหนดแล้วโจทก์จะเข้าครอบครองทรัพย์พิพาท จำเลยกลับขัดขวางและโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงขอให้ศาลสั่วงแสดงกรรมสิทธิ์และห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ขายฝาก เป็นแต่กู้เงินไปและเอาอสังหาริมทรัพย์ประกัน สัญญาได้ทำที่อำเภอจริงโดยเข้าใจว่าเป็นสัญญาจำนอง หากเป็นสัญญาขายฝากก็ถูกโจทก์ใช้กลฉ้อฉลซึ่งจำเลยเพิ่งทราบ ขอบอกล้างโมฆียะกรรมอนึ่งจำเลยเป็นหญิงมีสามี นายเลยสามีได้บอกล้างโมฆียะกรรมรายนี้แล้ว
นายเลยร้องสอดว่า เป็นสามีจำเลยก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่ เพิ่งทราบว่าจำเลยไปทำนิติกรรมผูกพันสินบริคนห์โดยผู้ร้องสอดไม่ได้ให้ความยินยอมหรือสัตยาบัน ขอบอกล้างโมฆียะกรรม
โจทก์คัดค้านว่า นายเลยไม่ได้เป็นสามีจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยรับว่าได้ทำสัญญากับโจทก์ตามสำเนาท้ายฟ้องจริง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
๑. นายเลยกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยมิชอบด้วย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕ จำเลยจึงทำนิติกรรมได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากสามี
๒. จำเลยเข้าใจสัญญาที่ผูกพันตนดีแล้ว
พิพากษาว่าทรัพย์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ให้ จำเลยและบริวารออกภายใน ๑ เดือน จำเลยและนายเลย ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมียพ.ศ. ๒๔๗๓ งดใช้แล้ว(ประกาศ ๑๘ พ.ย. ๒๔๗๔ ) เพิ่งประกาศใช้ป.พ.พ.บรรพ ๕ เมื่อวันที่ ๑ ต.ค. ๒๔๗๘ จำเลยกับนายเลยผู้ร้องสอดเป็นสามีภริยากัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงชอบด้วยกฎหมายแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนจำเลยได้มรดกทรัพย์พิพาทเรื่อยมาจนจำเลยขายฝากทรัพย์สินพิพาทแก่โจทก์ นายเลยได้ทิ้งร้าง จำเลยแล้วทรัพย์พิพาทจึงไม่เป็นสินสมรส จำเลยมีสิทธิเอาไปทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง เมื่อโจทก์สืบได้ว่าจำเลยสมัครใจทำสัญญาขายฝากจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ทำสัญญาขายฝากแก่โจทก์โดยแจ้งชัดข้อเท็จจริงมิได้ปรากฏว่าเป็นเรื่องกลฉ้อฉลหรือนิติกรรมอำพรางอย่างใด
ปัญหาเรื่องภริยาร้างนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ฝ่ายจำเลยและผู้ร้องสอดนำสืบว่าเป็นภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจริงและยังมิได้มีการหย่าขาดจากกัน ส่วนเรื่องภริยาร้างหรือไม่นั้น ไม่ใช่ปัญหาในคดีเรื่องนี้ เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดเสนอให้เป็นประเด็นชี้ขาดกล่าวคือนายเลยและจำเลยต่อสู้ยืนยันว่าเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยทำนิติกรรมผูกพันสินบริคณห์ โดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอดและผู้ร้องสอดไม่ได้ให้สัตยาบัน จึงบอกล้างโมฆียะกรรม โจทก์กลับยืนยันแก้แต่เพียงข้อเดียวว่านายเลยไม่ได้เป็นสามีของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ประเด็นจึงมีอยู่ประการเดียวว่า ผู้รอ้งสอดกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ศาลอุธรณ์วินิจฉัยมาในเรื่องภริยาร้างจึงเป็นเรื่องนอกประเด็น
เมื่อผู้ร้องสอดกับจำเลยเป็นภริยากัน โดยชอบด้วยกฎหมายทรัพย์พิพาทได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๖๒ – ๑๔๖๖ และสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตามมาตรา ๑๔๖๘ จำเลยผู้เป็นภริยาเอาไปทำสัญญาขายฝากโดยลำพังจึงเป็น โมฆียะกรรมตามมาตรา ๓๘ และบัดนี้ผู้ร้องสอดผู้เป็นสามีได้บอกล้างนิติกรรมรายนี้แล้ว ตาม ม.๑๓๗,๑๓๘ สัญญาขายฝากจึงไม่ผูกพันที่ดินและเรือนรายพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ต่อไป โจทก์จะขอให้ศาลแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นของโจทก์และห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องไม่ได้
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์