แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสองได้ระบุถึงค่าเสียหายว่าได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเป็นสำคัญก็ตาม แต่ศาลก็จำต้องดูพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเป็นหลักในการคำนวณตามวรรคแรกอยู่ด้วย โดยเฉพาะต้องเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานอาณาบาลมีหน้าที่ว่าคดีให้แก่โจทก์ โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นทนายความฟ้องขับไล่ป. และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ได้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ในราชการตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยพ.ศ. 2467 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง จำเลยมีหน้าที่ต้องรายงานผลแห่งคดี และเสนอความเห็นไปยังโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แต่จำเลยมิได้รายงานและเสนอความเห็นไปยังโจทก์ และมิได้ยื่นอุทธรณ์เป็นผลให้คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ป. จึงนำเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง ความเสียหายของโจทก์เป็นการสูญเสียสิทธิและโอกาสในการดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดว่าโจทก์เสียหายเพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่โจทก์อ้างว่าการที่โจทก์มิได้อุทธรณ์เป็นผลทำให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดิน เพราะหากโจทก์อุทธรณ์ฎีกาให้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีให้ถึงที่สุดแล้ว คดีของโจทก์มีทางชนะอย่างยิ่งนั้น เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ ราคาของที่ดินที่โจทก์อ้างว่าต้องสูญเสียไปจึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่ จำเลยกระทำละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานอาณาบาลเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2517 นายปุ๋ย ทองเรือง และบริวารได้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และโรงเรือนร้านค้า บุกรุกเข้ามาในที่ดินที่โจทก์ครอบครองเพื่อกิจการชลประทาน ที่บริเวณด้านทิศใต้ของเขตคันกั้นน้ำซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ในกิจการของโจทก์ ต่อมาวันที่ 7 มกราคม2530 โจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นทนายความให้ดำเนินการฟ้องขับไล่นายปุ๋ยและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าวต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาวันที่ 29ธันวาคม 2532 ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความและเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์มีหน้าที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ โดยต้องอุทธรณ์คำพิพากษาหรือแจ้งผลคำพิพากษาให้โจทก์ทราบเพื่อพิจารณาว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไปหรือไม่ แต่จำเลยกลับจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่กระทำการยื่นอุทธรณ์และไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ จนคดีถึงที่สุดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยนายปุ๋ยได้นำผลคำพิพากษาดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 95776, 95780 และ95783 เป็นเหตุให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดินดังกล่าวไปรวมเนื้อที่ 45 ไร่1 งาน 42 ตารางวา โดยมีส่วนที่ติดถนนสุขุมวิทระยะ 40 เมตร จำนวน11 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา ประเมินราคารวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น127,140,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์โจทก์รู้เรื่องและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเมื่อวันที่ 29พฤษภาคม 2538 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 127,140,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุที่ไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการเพราะเห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีทางชนะคดีได้ เพราะที่ดินพิพาท โจทก์เคยฟ้องผู้ครอบครองทั้งทางแพ่งและทางอาญามาแล้วจนศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งจำเลยมีอำนาจตามที่ระบุในใบแต่งทนายความที่จะสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาได้ ค่าเสียหายไม่เกิน 30,000,000 บาท เพราะที่ดินดังกล่าวในขณะเกิดเหตุมีราคาตารางวาละไม่เกิน 2,500 บาทและกรมทางหลวงได้เข้าครอบครองทำเป็นถนนสุขุมวิทไปแล้วประมาณ10 ไร่ จึงเหลือที่ดินที่เป็นกรณีพิพาทเพียง 30 ไร่ เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งว่าจำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานอาณาบาล มีหน้าที่ว่าคดีให้แก่โจทก์ เกี่ยวกับคดีนี้โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นทนายความฟ้องขับไล่นายปุ๋ย ทองเรือง และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ได้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ในราชการ ตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการเรื่องขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำในบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย พ.ศ. 2467 ต่อมาศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำพิพากษายกฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1841/2532 จำเลยมีหน้าที่ต้องรายงานผลแห่งคดี และเสนอความเห็นไปยังโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้รายงานและเสนอความเห็นไปยังโจทก์และมิได้ยื่นอุทธรณ์เป็นผลให้คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการ นายปุ๋ยจึงนำเอาคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการไปขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ความเสียหายของโจทก์ควรคิดคำนวณตามราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่าต้องสูญเสียไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น127,140,000 บาท หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 วรรคแรก บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด” แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่า ศาลย่อมมีดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยประกอบด้วย จริงอยู่ในมาตรา 438 วรรคสอง นั้นเองได้ระบุถึงค่าเสียหายว่าได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเป็นสำคัญก็ตาม แต่ศาลก็จำต้องดูพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเป็นหลักในการคำนวณอยู่ด้วย โดยเฉพาะต้องเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีนี้ที่โจทก์อ้างว่าการที่โจทก์มิได้อุทธรณ์เป็นผลทำให้โจทก์ต้องสูญเสียที่ดินเพราะหากโจทก์อุทธรณ์ฎีกาให้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีให้ถึงที่สุดแล้ว คดีของโจทก์มีทางชนะอย่างยิ่งนั้น เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ โจทก์ทราบได้อย่างไรว่าโจทก์จะชนะคดีได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ตามพฤติการณ์แห่งคดีราคาของที่ดินที่โจทก์อ้างว่าต้องสูญเสียไปจึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยกระทำละเมิดความเสียหายของโจทก์เป็นการสูญเสียสิทธิและโอกาสในการดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดว่าโจทก์เสียหายเพียงใดศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดให้เป็นเงิน 2,000,000 บาทนั้น ชอบแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข”
พิพากษายืน