คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4297/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 8 ถึงที่ 10 โดยวิธีขายรวมกัน การขายแยกเฉพาะที่ดินแปลงที่ 8 อันเป็นแปลงเดียวที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ย่อมทำให้ที่ดินแปลงที่ 9 และที่ 10 ที่จะขายมีราคาต่ำลงนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์คัดค้านวิธีการขายของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ต้องคัดค้านเสียก่อนการขายทอดตลาดสำเร็จบริบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านภายหลังการขายทอดตลาดสำเร็จบริบูรณ์แล้วการขายทอดตลาดจึงเป็นไปโดยชอบและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309(1)(ข) ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมบังคับให้จำเลยทั้งหกชำระเงินจำนวน 664,510.50 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเพื่อไถ่ถอนจำนอง จำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินรวม 10 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 เพื่อชำระหนี้ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์2534 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 3 ถึงที่ 5แปลงที่ 7 และแปลงที่ 8 ให้แก่นางสาวภัทวดี วรรณปักษ์ผู้ซื้อทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดในราคา 159,000 บาทโดยแยกขายจากที่ดินแปลงอื่น
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ที่ดินแปลงที่ 8 มีเนื้อที่ดินติดกับที่ดินแปลงที่ 9 และที่ 10 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาและประกาศขายทอดตลาดพร้อมกัน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่รวมขายไปด้วยกันกับที่ดินแปลงที่ 9 และที่ 10 ทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงนี้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ และไม่อาจขายได้ราคาตามที่ควรเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309(1)(ข) จึงขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 8 และให้ขายใหม่รวมกับที่ดินแปลงที่ 9 และที่ 10
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 8
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 8 ไปโดยขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 309(1)(ข) หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในเรื่องนี้ โจทก์กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปโดยไม่ชอบเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 8ถึงที่ 10 โดยวิธีขายรวมกัน การที่แยกขายเฉพาะที่ดินแปลงที่ 8อันเป็นแปลงเดียวที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ย่อมจะทำให้ที่ดินแปลงที่ 9 และที่ 10 ที่จะขายมีราคาลดต่ำลง ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์คัดค้านวิธีการขายของเจ้าพนักงานบังคับคดี ในข้อนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 กำหนดว่าหากทรัพย์สินที่จะขายมีหลายสิ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแยกขายทีละสิ่งต่อเนื่องกันไป แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ สองสิ่งหรือกว่านั้นขึ้นไปรวมขายไปด้วยกันได้เมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่า เงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ขายแยกแปลงไป จึงเป็นการปฏิบัติไปตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งหากโจทก์ไม่เห็นด้วย โจทก์ชอบที่จะร้องคัดค้านไว้ตามนัยแห่งมาตรา 309 วรรคท้าย ซึ่งในประเด็นการคัดค้านนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านหลังการขายทอดตลาดสำเร็จบริบูรณ์แล้ว กรณีไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 309 วรรคท้าย ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดให้ขายที่ดินแปลงที่ 8 ไปโดยวิธีขายแยกแปลง และได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวไปโดยมีผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้ในราคาสูงสุดเป็นเงิน 100,000 บาทนั้น จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบ และไม่ขัดต่อมาตรา 309(1)(ข)กรณีไม่มีเหตุจะต้องเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 8นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกคำร้องของโจทก์

Share