คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4281/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้สั่งจ่ายเช็คแก้ไขวันเดือนปีที่ลงในเช็คพร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยผู้สลักหลังรู้เห็นยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นผู้สลักหลังไม่หลุดพ้นความรับผิด จึงยังคงต้องรับผิดต่อผู้ทรงเช็ค

ย่อยาว

โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คฉบับลงวันที่ 22 มกราคม 2527 ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สลักหลังร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนวน 314,291.25 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 276,300 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คฉบับลงวันที่ 22 กันยายน 2526 มิได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คฉบับที่โจทก์ฟ้อง เช็คตามฟ้องจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลัง เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2526 จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบว่าได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง วัน เดือน ปี และไม่รู้เห็นหรือให้ความยินยอมในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 22 มกราคม 2527โจทก์ไม่เรียกเก็บเงินตามวัน เดือน ปี ที่สั่งจ่ายในเช็คที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทจึงเป็นอันเสียไปจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 276,300 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2527 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ลงวันที่ 22 กันยายน 2526 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลัง วันที่ 23 พฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินไว้กับโจทก์และแก้ไข วัน เดือน ปี ในเช็คพิพาท เป็นวันที่ 22 มกราคม 2527พร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขดังกล่าว และธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการเรียกเก็บเงิน ปัญหาว่า จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาเพียงว่าจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยในการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ลงในเช็คพิพาท เช็คพิพาทก็เป็นอันเสียไปไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย จากนั้นศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 น่าจะรู้หรือควรจะรู้เห็นยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ลงในเช็คพิพาท จำเลยที่ 2 จะลงลายมือชื่อสลักหลังในเช็คพิพาทในวันใดย่อมไม่สำคัญ และไม่ทำให้จำเลยที่ 2หาต้องหลุดพ้นในความรับผิดด้วยไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share