คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4274/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จะต้องเป็นการแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนซึ่งได้จัดเตรียมการจ่ายไว้แล้วโดยไม่ต้องกระทำการอย่างอื่นอีก หากหนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ยังสามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอีกโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทน ก็ไม่ใช่หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว
หนังสือที่จำเลยมีถึงโจทก์ผู้ถูกเวนคืนระบุเรื่องว่า ขอเชิญให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนและสิ่งที่ส่งมากับหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือแสดงรายการเอกสารที่ต้องใช้ในการทำสัญญาเกี่ยวกับค่าทดแทน และมีข้อความในหมายเหตุอีกว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่ตกลงทำสัญญา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 จะทำการวางเงินค่าทดแทนเอกสารดังกล่าวจึงเป็นหนังสือที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มาทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 แล้ว
สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนของจำเลยทั้งสองนั้น หลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายต่อกันแล้ว จำเลยที่ 1 จะมีหนังสือแจ้งโจทก์ผู้ถูกเวนคืนให้มารับเงินค่าทดแทนในภายหลังอีกครั้งหนึ่ง แต่โจทก์ไม่ได้มาทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1ต่อมาเมื่อครบกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 1 จึงได้นำเงินค่าทดแทนไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์และมีหนังสือถึงโจทก์เรื่องแจ้งการวางเงินค่าทดแทน ซึ่งมีข้อความให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนได้โดยไม่มีข้อที่จะดำเนินการอย่างอื่นอีก ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการแจ้งโจทก์ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อไร และหนังสือฉบับดังกล่าวลงวันที่ 15 มีนาคม 2534 ดังนั้น โจทก์จะต้องได้รับหนังสือไม่เร็วกว่าวันที่ 15 มีนาคม 2534 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 13 พฤษภาคม 2534 ไม่เกินหกสิบวัน จึงเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้
อาคารโกดังคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวของโจทก์มีเนื้อที่ 841.30 ตารางเมตร ตรงกับเนื้อที่ตามฟ้องของโจทก์ แม้อาคารหลังนี้อยู่ในแนวเขตที่จะเวนคืนเพียงบางส่วนเนื้อที่ 300 ตารางเมตรก็ตาม แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ขอให้เวนคืนส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้แล้ว และไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีฯ ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ซึ่งถือว่ารัฐมนตรีฯ วินิจฉัยให้เจ้าหน้าที่เวนคืนตามคำร้องขอของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 19 วรรคสอง แล้ว
เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสามส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ส่วนวันเริ่มต้นชำระดอกเบี้ยนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่าย และปรากฏตามหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวน4,149,515.37 บาท ไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม2534 ในนามของโจทก์ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวจากเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ศาลวินิจฉัยให้เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดซึ่งรวมกันแล้วเป็นจำนวน 13,403,084.63 บาท แต่ต่อมาคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนได้แก้ไขราคาเบื้องต้นเฉพาะที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 5,607,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วเมื่อวันที่26 เมษายน 2536 นับแต่วันดังกล่าว ต้นเงินที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยจึงต้องลดลงจำนวน5,607,000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 25490, 25818 และ25819 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 721 ตารางวา อยู่ในแนวเขตที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ โดยกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,884,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำเกินไปที่ดินโจทก์ตั้งอยู่ในเขตชุมชน เป็นที่ดินผืนเดียวกันทั้งหมด มีสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินปัจจุบันมีราคาตารางวาละ 90,000 บาท คิดเป็นเงิน 64,890,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกเป็นเงิน 62,006,000 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,265,515.37บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำเกินไปและกำหนดให้ไม่ครบถ้วนกล่าวคือ อาคารโกดังคอนกรีตชั้นเดียว เนื้อที่ 841.30 ตารางเมตร ถูกเวนคืน 300 ตารางเมตร ซึ่งอาคารส่วนที่เหลือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนให้โดยคิดเต็มเนื้อที่ทั้งหมดในราคาตารางเมตรละ 3,500 บาท เป็นเงิน 2,944,550 บาท ป้อมยามคอนกรีตเสริมเหล็ก หน้าต่างทำด้วยกระจก ประตูไม้สักใช้วัสดุและอุปกรณ์ในการก่อสร้างอย่างดีราคา 150,000 บาท รั้วคอนกรีตความยาว 175.79 เมตร รั้วดังกล่าวเป็นรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กสูงประมาณ 4 เมตร มีเหล็กดัดเชื่อมต่อระหว่างเสารั้วแต่ละต้น เมื่อรื้อถอนรั้วจะเสียหายทั้งหมดแต่จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะรั้วคอนกรีตเท่านั้นทั้งที่ยังมีความเสียหายอีกหลายรายการ เช่น ประตูรั้วเหล็กดัด โคมไฟฟ้าบนเสารั้ว ท่อสายไฟฟ้า และสายไฟฟ้าตลอดแนวรั้ว จะต้องกำหนดค่ารั้วคอนกรีตเป็นเงิน1,015,920 บาท ประตูรั้วเหล็กดัดพร้อมโคมไฟฟ้าบนเสารั้วเป็นเงิน 250,000 บาทท่อสายไฟฟ้าและสายไฟฟ้าเป็นเงิน 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,415,920 บาทถนนคอนกรีตเป็นเงิน 200,000 บาท ท่อระบายน้ำเป็นเงิน 150,000 บาท สนามหญ้าเนื้อที่ 3,017.48 ตารางเมตร กับสวนหย่อม ไม้ดอกและไม้ประดับเป็นเงิน 400,000 บาทโคมไฟฟ้าบนสนามหญ้ารวมทั้งท่อสายไฟฟ้าและสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นเงิน 100,000 บาทรวมค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 5,360,470 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนส่วนนี้เพิ่มขึ้น 4,094,954.63 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 66,100,954.63 บาท จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าวซึ่งโจทก์ขอคิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 21,949,138.92 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 88,050,093.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 66,100,954.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยทั้งสองได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2533แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2534เกินกว่ากำหนด 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,646,866.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 25490, 25818 และ 25819 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ดินโจทก์ดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 721 ตารางวา และสิ่งปลูกสร้างถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด… พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้ประกาศราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์แล้ว คิดเป็นเงินค่าทดแทนได้ดังนี้ ที่ดิน 721 ตารางวา ตารางวาละ 4,000 บาท เป็นเงิน 2,884,000บาท สิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 1,265,515.37 บาท และมีหนังสือลงวันที่ 11 กันยายน2533 แจ้งให้โจทก์ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.12แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินดังกล่าวครั้นวันที่ 15 มีนาคม 2534 ได้มีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.14 หลังจากนั้นวันที่ 13พฤษภาคม 2534 โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนรายนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามเอกสารหมาย จ.10

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 อันทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้น จะต้องเป็นการแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนซึ่งได้จัดเตรียมการจ่ายไว้แล้วโดยไม่ต้องกระทำการอย่างอื่นอีก หากหนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ยังสามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอีกโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทน ก็ไม่ใช่หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว หนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.12 ระบุเรื่องว่า ขอเชิญให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนและสิ่งที่ส่งมากับหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือแสดงรายการเอกสารที่ต้องใช้ในการทำสัญญาเกี่ยวกับค่าทดแทน และมีข้อความในหมายเหตุอีกว่า ในกรณีที่ท่านไม่ตกลงทำสัญญา การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะทำการวางเงินค่าทดแทน เอกสารดังกล่าวจึงเป็นหนังสือที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มาทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบของโจทก์เกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนของจำเลยทั้งสองโดยนายสมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า หลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายต่อกันแล้ว จำเลยที่ 1 จะมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้มารับเงินค่าทดแทนในภายหลังอีกครั้งหนึ่งข้อเท็จจริงได้ความอีกว่า โจทก์ไม่ได้มาทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 เมื่อครบกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าทดแทนไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาค 1 และมีหนังสือถึงโจทก์เรื่องแจ้งการวางเงินค่าทดแทน ตามเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.14 ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีข้อความให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนได้โดยไม่มีข้อที่จะดำเนินการอย่างอื่นอีก ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.14 เป็นการแจ้งโจทก์ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อไร แต่หนังสือฉบับดังกล่าวลงวันที่ 15มีนาคม 2534 ดังนั้น โจทก์จะต้องได้รับหนังสือไม่เร็วกว่าวันที่ 15 มีนาคม 2534 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 13 พฤษภาคม 2534 ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ไม่เกินหกสิบวัน จึงเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมามีว่าจำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นธรรมหรือไม่ ตามปัญหานี้แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนโจทก์ฎีกาสรุปว่าที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรมีค่าทดแทนตารางวาละ 90,000 บาท สำหรับสิ่งปลูกสร้างควรมีค่าทดแทน ดังนี้ อาคารโกดังคอนกรีตชั้นเดียวตารางเมตรละ 3,500บาท อาคารป้อมยาม 150,000 บาท รั้วคอนกรีต 1,015,920 บาท ประตูรั้วโคมไฟฟ้า250,000 บาท ท่อสายไฟฟ้าและสายไฟฟ้า 150,000 บาท สนามหญ้าพร้อมอุปกรณ์500,000 บาท ไม้ดอกและไม้ประดับ 400,000 บาท เห็นว่า การดำเนินการเพื่อเวนคืนในคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการบัญญัติเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนี้ การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโจทก์ที่ถูกเวนคืนจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) ประกอบกัน แล้ววินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินโจทก์ทั้งสามแปลงรวมกันแล้วมีเนื้อที่กว่า 3 ไร่ โจทก์ได้ทำการถมที่ดิน ปรับสภาพ และปลูกสร้างบ้านพักอาศัยแล้ว จึงจัดว่าเป็นที่ดินแปลงใหญ่สำหรับประเภทที่อยู่อาศัยสภาพของที่ดินเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยอย่างยิ่ง ทั้งอยู่ห่างจากถนนงามวงศ์วานไม่มากและอยู่ในละแวกเดียวกันกับที่ดินที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาดังกล่าว จึงเห็นว่า ค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ตารางวาละ 20,000 บาทจำนวน 721 ตารางวา เป็นเงิน 14,420,000 บาท เป็นการกำหนดโดยคำนึงถึง มาตรา 21วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว เงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลกำหนดนี้เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดอีก11,536,000 บาท แต่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดจำนวน 2,884,000 บาท กับที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนค่าทดแทนกำหนดเพิ่มขึ้นจำนวน 5,607,000 บาท รวมเป็น 8,491,000 บาทโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 5,929,000 บาท

ส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง ศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า ความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนในคดีนี้น่าจะมีมากกว่าเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดโดยอาศัยข้อมูลดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในส่วนกลางเพื่อใช้สำหรับการถอดแบบคำนวณราคากลางของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ และหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยความเสียหายของโจทก์ในแต่ละรายการในฟ้องโจทก์ตามลำดับดังต่อไปนี้

อาคารโกดังคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารโกดังหลังนี้ อันจะทำให้เห็นได้ว่าราคาค่าก่อสร้างอาคารโกดังที่โจทก์กล่าวอ้างนี้เป็นราคาที่สมเหตุสมผล แต่อย่างไรก็ตามอาคารโกดังหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บวัสดุเคมีภัณฑ์ในการผลิตยาและลักษณะภายนอกของอาคารโกดังหลังนี้ดูเรียบร้อยและมั่นคงแข็งแรง จึงน่าเชื่อว่าใช้วัสดุก่อสร้างอย่างดีกว่าวัสดุก่อสร้างที่ใช้เป็นราคากลางของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้เฉลี่ยตารางเมตรละ 1,326.19 บาท ต่ำเกินไป ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ให้โดยคิดเฉลี่ยตารางเมตรละ 2,000 บาท อาคารโกดังหลังนี้มีเนื้อที่ 841.30 ตารางเมตร คิดเป็นเงินจำนวน 1,682,600 บาท

ป้อมยามคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างป้อมยามหลังนี้ที่โจทก์นำสืบว่าเป็นเงิน 150,000 บาท สูงกว่าค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้ไม่มาก เป็นราคาที่สมเหตุสมผล จึงกำหนดค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท

รั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบแยกส่วนรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ได้ใช้ไปในการก่อสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก เฉพาะส่วนที่ถูกเวนคืนว่ามีอย่างไร แต่ละอย่างมีจำนวนเท่าใด ทั้งหนังสือเอกสารหมาย จ.39 ก็ระบุว่ารั้วคอนกรีต 1,015,920 บาท ประตูรั้วเหล็กดัดพร้อมโคมไฟฟ้าบนรั้ว 250,000 บาทท่อสายไฟฟ้าและสายไฟฟ้าตลอดแนวรั้ว 150,000 บาท อันมีนัยว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการล้อมรั้วที่ดินของโจทก์ทั้งหมด ซึ่งมีเนื้อที่รวม 3 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวาหรือ 1,325 ตารางวา มากกว่าที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเกือบเท่าตัว รั้วบ้านของโจทก์ในส่วนที่ไม่ต้องรื้อถอนจึงมีเกือบกึ่งหนึ่ง นอกจากนี้วัสดุที่ต้องรื้อถอนออกนี้บางส่วนสามารถนำมาใช้ใหม่และบางส่วนเสียหายไม่หมด ยังมีราคาอยู่บ้าง พยานโจทก์ที่นำสืบเกี่ยวกับความเสียหายในส่วนนี้คลุมเครือจนฟังไม่ได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่ดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วในตอนต้นว่า ความเสียหายของโจทก์น่าจะมีมากกว่าค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์เป็นเงิน600,000 บาท

ถนน ท่อระบายน้ำ สนามหญ้า เห็นว่า การนำสืบของโจทก์ที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถนน ทางระบายน้ำ นั้น ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะให้เห็นได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในราคาที่สมเหตุสมผลกับการก่อสร้างถนนทางระบายน้ำในส่วนที่อยู่ในแนวเขตเวนคืน ส่วนสนามหญ้านั้นโจทก์นำสืบเป็นค่าใช้จ่ายในการตกแต่งและจัดสวนซึ่งมีค่าใช้จ่ายหลายรายการเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนที่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องในคดีนี้ เช่นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับไม้ยืนต้น และฟ้องโจทก์ระบุว่าพื้นที่สนามหญ้าได้ถูกเขตทางเนื้อที่3017.48 ตารางเมตร แต่พื้นที่จัดสวนที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.46 มีพื้นที่รวมทั้งหมด 10,700 ตารางเมตร มากกว่าพื้นที่ที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้อง และมากกว่าพื้นที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนจำนวน 721 ตารางวา หรือ 2,884 ตารางเมตร เท่านั้น พยานโจทก์ที่นำสืบเกี่ยวกับความเสียหายในส่วนนี้ทั้งสามรายการคลุมเครือจนฟังไม่ได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่ความเสียหายของโจทก์น่าจะมีมากกว่าค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ทั้งสามรายการรวมกันทั้งหมดแล้วเป็นเงิน 700,000 บาท ดังนี้ ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้ทั้งหมดที่ศาลฎีกากำหนดให้แก่โจทก์รวมกันแล้วเป็นเงิน 3,132,600 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ฝ่ายจำเลยอีกเป็นเงิน 1,867,084.63 บาท เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ส่วนวันเริ่มต้นชำระดอกเบี้ยนั้น คดีนี้ปรากฏว่าไม่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายและปรากฏตามหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.9 ว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวน 4,149,515.37 บาท ไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาค 1 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2534 ในนามของโจทก์ ดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวจากเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ศาลฎีกาวินิจฉัยให้เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนด ซึ่งรวมกันแล้วเป็นจำนวน 13,403,084.63 บาท แต่ต่อมาคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนได้แก้ไขราคาเบื้องต้นเฉพาะที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 5,607,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 26 เมษายน2536 ตามเอกสารหมาย ล.18 นับแต่วันดังกล่าว ต้นเงินที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยจึงต้องลดลงจำนวน 5,607,000 บาท

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,796,084.63 บาทพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 13,403,084.63 บาท ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2534 จนถึงวันที่ 25 เมษายน 2536 หลังจากนั้นให้ใช้ดอกเบี้ยของต้นเงิน 7,796,084.63 บาท ในอัตราลักษณะเดียวกันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share