คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4270/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำรายเดือนของจำเลยที่ 3ตำแหน่งภารโรง ไม่มีหน้าที่ขับรถ จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ไปช่วยราชการภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถไปเกิดเหตุละเมิดต่อโจทก์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 แม้การขับรถยนต์จะมิใช่งานในหน้าที่ซึ่งจำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 1 กระทำก็ตามก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าได้จ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำงานเป็นภารโรงไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับภายในของจำเลยที่ 3 มาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ขับรถยนต์ของทางราชการอำเภอเมืองสุรินทร์ อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ส.ร.03986 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อใช้ในหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนรถของโจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ขับรถยนต์ของทางราชการอำเภอเมืองสุรินทร์ อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเหตุเกิดชนกับรถของโจทก์เพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 3 และไม่เคยเชิดตัวเองเป็นตัวแทนจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 1 เป็นภารโรง ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เป็นการขอร้องให้ช่วยขับเป็นครั้งคราวมิใช่เป็นไปในทางการที่จ้าง เหตุที่เกิดเพราะจำเลยที่ 1 ขับรถไปในกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดและเหตุที่เกิดชนกันเพราะความประมาทของคนขับรถของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 แต่จ้างไว้เป็นภารโรง ไม่มีหน้าที่ขับรถ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3และจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดและเหตุเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดร่วมกันส่วนจำเลยที่ 3ข้อเท็จจริงฟังได้ว่างานที่จำเลยที่ 2 ไปกระทำมิใช่กิจการของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำรายเดือนของจำเลยที่ 3 ตำแหน่งภารโรงโรงเรียนหนองโตง “สุรวิทยาคม” ไม่มีหน้าที่ขับรถ จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 มาช่วยราชการที่หมวดการศึกษา อำเภอเมืองสุรินทร์ อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองสุรินทร์ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 มอบให้อำเภอเมืองสุรินทร์ใช้ในราชการ ด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 99,917 บาท 60 สตางค์ ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับจังหวัดสุรินทร์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ภายหลังจำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งจำเลยที่ 2 ปฏิบัติราชการที่กรุงเทพมหานครแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 อันจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจำเลยที่ 3 ขับรถไปเกิดเหตุละเมิดต่อโจทก์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 แม้การขับรถยนต์จะมิใช่งานในหน้าที่ซึ่งจำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 1 กระทำก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวไปทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าได้จ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำงานเป็นภารโรงไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ ซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับภายในของจำเลยที่ 3 มาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดด้วยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share