แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การใช้กฎหมายเก๊ากับกฎหมายใหม่บังคับคดีสมัยก่อนใช้ประมวลแพ่ง ฯ บรรพ 4 ถือว่าที่ดินเป็นของพระเจ้าอยู่หัวหากให้ราษฎรซึ่งเป็นข้าแผ่นดินอยู่ ยิ่งเป็นชนิดสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วไม่มีเอกชนถือเป็นเอกสิทธิได้โดยพละการกรณีที่เข้าปกครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาก่อนใช้ประมวลแพ่ง ฯ บรรพ 4 นั้นศาลยกประมวลแพ่ง ฯ ม.1304-1036-1309 มาบังคับคดีได้เพราะมาตราเหล่านี้มีที่มาโดยนัยแห่งกฎหมายเดิมที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นราษฎรจะยกการครอบครองขึ้นต่อรัฐบาลไม่ได้ ประมวลแพ่ง ฯ ม.1382 ใช้ยันได้ระวางเอกชนกันเองฎีกาอุทธรณ์ ปัญหากฎหมาย
ย่อยาว
คดีนี้ศาลล่างพิพากษาต้องกันให้ขับไล่จำเลยออกจากเขตต์หนองหาร
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าที่ ๆ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยอยู่ภายในเขตต์หนองหารซึ่งทางราชการหวงห้ามไว้ เพื่อสาธารณชนเลี้ยงสัตว์และเพื่อทางราชการเพาะพันธุ์ปลา จำเลยจะฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นไม่ได้ศาลฎีกาคงรับพิจารณาแต่ปัญหาข้อกฎหมาย คือ (๑) จำเลยว่าได้ปกครองที่รายนี้มา ๙ -๑๐ ปีแล้ว จำเลบควรมีกรรมสิทธิตามประมวลแพ่ง ฯ ม.๑๓๘๒ ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยจะยกเอาความครอบครองมาต่อสู้ไม่ได้ตามมาตรา ๑๓๐๖ เพราะที่แห่งนี้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔ ส่วน ม.๑๓๘๒ ที่จำเลยเสนอมาใช้ต่อสู้ได้แต่เอกชนด้วยกัน
(๒) จำเลยว่า ประมวลแ่พง ฯ ม.๑๓๐๔-๑๓๐๖-๑๓๐๙ ซึ่งว่าด้วยสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลล่างไม่ควรยกมาบังคับคดีเพราะพึ่งประกาศใช้ภายหลังจากการที่จำเลยเข้าปกครองที่รายนี้ ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า แท้จริงบทบัญญัตินี้มีที่มาโดยนัยแห่งกฎหมายเดิมนั่นเอง เช่นลักษณเบ็ดเสร็จบทที่ ๔๒ เป็นต้น สมัยโน้นถือว่าที่ดินเป็นพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ ยิ่งเป็นชนิดสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วยแล้ว จึงไม่มีเอกชนคนใดเลยที่จะพึงถือเอาเป็นเอกสิทธิแห่งตนได้โดยพละการ ฉะนั้นศาลล่างอ้างบทบัญญัติดังกล่าวบังคับคดีจึงไม่ผิดที่มาแห่งหลักกฎหมายเดิม จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง