คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4238/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมและส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต บรรดาเครื่องวิทยุคมนาคมหรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่จำเลยมีไว้โดยยังมิได้รับอนุญาตจึงเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดและต้องริบตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498
ฎีกาของจำเลยว่าทรัพย์สองรายการตามบัญชีทรัพย์ของโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือใช้ประกอบเครื่องวิทยุคมนาคมในการสื่อสารจึงไม่ใช่ส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคมนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 6,2, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลางทั้งหมดเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขต่อไป

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 22, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ฐานมีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 1,000 บาท ฐานใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 1,000 บาท ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมปรับ 1,000 บาทรวมปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับ 1,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางนั้นศาลเห็นว่า ตามสภาพมิใช่ทรัพย์ที่ผิดกฎหมายเพียงแต่มิได้ดำเนินการรับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งจำเลยอ้างว่าได้ขออนุญาตต่อทางราชการแล้วจึงยังไม่สมควรให้ริบให้ยกคำขอของโจทก์เสีย

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบของกลาง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบทั้งหมด เพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์ไทรเลข นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ปรับจำเลยสถานเดียว คงแก้เฉพาะให้ริบของกลางถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยจำเลยฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ที่จำเลยฎีกาว่า แบตเตอรี่ชาร์ตเตอร์ยี่ห้อไฮเบรเวอร์อะเคปเตอร์และเครื่องชาร์ตแบตเตอรี่ยี่ห้อ ที.โอ.เคนวู้ด แบบเสียบไฟเข้าเครื่องชาร์ตตามบัญชีทรัพย์อันดับ 2 และอันดับ 7 มิได้เกี่ยวข้องหรือใช้ประกอบเครื่องวิทยุคมนาคมในการสื่อสารศาลจึงไม่มีอำนาจริบนั้นเป็นการฎีกาว่าทรัพย์ทั้งสองรายการนั้นไม่ใช่ส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคม ซึ่งจำเลยมิได้ให้การต่อสู้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เครื่องวิทยุคมนาคมของจำเลยมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามความหมายแห่งกฎหมายและจะต้องริบตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำมี ใช้ นำเข้า หรือนำออก ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมหรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคมหรือตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต”ฉะนั้น บรรดาเครื่องวิทยุคมนาคมหรือส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่จำเลยมีไว้จึงเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิด เว้นแต่จำเลยจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต เมื่อจำเลยยังมิได้รับอนุญาตและศาลก็ได้พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว เครื่องวิทยุคมนาคมและส่วนใด ๆ แห่งเครื่องวิทยุคมนาคม ที่จำเลยมีไว้เป็นความผิดจึงต้องริบ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share