แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งแปดได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ชำระราคาที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนในวันทำสัญญา และได้ติดตามทวงถามให้จำเลยที่ 1 ทำการแบ่งโฉนดโอนให้แก่จำเลยที่ 1 ตลอดมา แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ก็ได้ผ่อนชำระที่ดินพิพาทที่จะซื้อแก่จำเลยที่ 1 ตลอดมา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ย้ายไปเสียจากภูมิลำเนาไม่มีใครทราบว่าไปอยู่ ณ ที่ใด และไม่แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ทราบ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 จึงไม่ได้ผ่อนชำระ ราคาที่ดินแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป กรณีจะถือว่าสัญญาสิ้นสุดโดยปริยายเพราะโจทก์ทั้งแปดไม่นำพาปฏิบัติตามสัญญา อันมีผลเป็นการยกเลิกสัญญากันโดยปริยายไม่ได้ ฉะนั้นด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ตามสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งแปดและจำเลยที่ 1 จึงทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทขายให้แก่โจทก์ทั้งแปด ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ทั้งรู้อยู่ว่าที่ดินดังกล่าวได้ทำเป็นที่ดินจัดสรรและมีผู้มาซื้อแล้ว ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต เมื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทจนหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ได้ที่ดินพิพาทไป โดยรู้ข้อความจริงอันเป็นการให้โจทก์ทั้งแปดผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ทั้งแปดผู้เป็นเจ้าหนี้จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
โจทก์ทั้งแปดเพิ่งได้ทราบว่าจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อเดือนสิงหาคม 2537 ฉะนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 โจทก์ที่ 4 ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2537 และโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2537 จึงหาพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งแปดได้รู้ถึงเรื่อง การขายฝากซึ่งเป็นต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนไม่ คดีโจทก์ทั้งแปดไม่ขาดอายุความหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 240
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ ๔ เรียกโจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ ๕ เรียกโจทก์สำนวนที่สี่ว่า โจทก์ที่ ๖ ถึงที่ ๘
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องทำนองเดียวกันขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๙๖๙๑ ๙๙๖๙๐ และ ๓๖๘๗ ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ของจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยที่ ๑ รับเงินค่าที่ดิน ที่ค้างชำระจากโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๘ และจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ทั้งแปด หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือ เอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ ๑ ทั้งสี่สำนวนขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทั้งสี่สำนวนให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาททั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งแปดตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทให้จำเลยที่ ๑ รับเงินค่าที่ดินที่ค้างชำระจากโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๘ และจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ทั้งแปดได้ที่ดินตามแปลงหมายเลขที่ระบุไว้ในแผนที่พิพาท เอกสารหมาย จ. ถึง จ.๓ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทั้งสี่สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งแปดทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจัดสรรจากจำเลยที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ชำระราคาที่ดินแก่จำเลยที่ ๑ ครบถ้วนในวันทำสัญญา ส่วนโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๘ ชำระราคาที่ดินบางส่วน จำเลยที่ ๑ นำที่ดินพิพาททั้งสามโฉนดไปขายฝากไว้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีกำหนดไถ่ถอนภายใน ๑ ปี แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมถอนภายในกำหนด ที่ดินพิพาททั้งสามโฉนดจึงตกเป็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ประการแรกว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่าง โจทก์ทั้งแปดกับจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ ๑ ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ครบถ้วนแล้ว อีกทั้งได้ติดตามทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินและโอนให้แก่โจทก์ที่ ๑ ตลอดมา แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย สำหรับโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๘ ก็ได้ผ่อนชำระราคาที่ดินพิพาทที่จะซื้อให้แก่จำเลยที่ ๑ ตลอดมา แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้ไปเสียจากภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าจำเลยที่ ๑ ไปอยู่ ณ ที่ใด และโดยไม่แจ้งให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๘ ทราบ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๘ จึงไม่ได้ผ่อนชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ อีกต่อไป กรณีจะถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งแปดและจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลงโดยปริยายเพราะโจทก์ทั้งแปดไม่นำพาปฏิบัติตามสัญญาอันมีผลเป็นการยกเลิกสัญญากันโดยปริยายไม่ได้ ฉะนั้นด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ตามสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งแปดและจำเลยที่ ๑ ก็กระทำให้จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทขายให้แก่โจทก์ทั้งแปดผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ประการต่อมาว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่าขณะที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาขายฝากกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๔ นั้น ในที่ดินที่จัดสรรที่จำเลยที่ ๑ ขายฝากไว้นั้นมีผู้จะซื้อที่ดินที่จัดสรรไว้ได้เข้าไปปลูกบ้าน อยู่อาศัยบ้างแล้ว การที่จำเลยที่ ๒ ได้เข้าไปดูที่ดินก่อนรับซื้อฝาก ย่อมจะต้องเห็นสภาพที่ดินที่แบ่งเป็นล็อก ๆ ประมาณ ๑๐๐ แปลง มีหลักปูนซิเมนต์ปักไว้ทั้งสี่ด้านและมีถนนผ่านกลางที่ดินที่จัดสรร นอกจากนี้ยังต้องเห็นบ้านด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้เข้าไปดูก่อนรับซื้อฝากย่อมต้องเข้าใจได้ดีและรู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินจัดสรรแบ่งขายให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปแล้ว เมื่อจำเลยที่ ๒ ดูที่ดินแล้วได้ปรึกษากับจำเลยที่ ๓ แล้ว ดังนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ ๓ ได้ทราบข้อเท็จจริง ดังกล่าวแล้วด้วย ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยังขืนรับซื้อฝากที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ ทั้งรู้อยู่ว่าที่ดินดังกล่าวได้ทำเป็นที่จัดสรร มีผู้มาซื้อและปลูกบ้านบ้างแล้ว เช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๑ โดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ทั้งแปดซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ เสียเปรียบ การที่จำเลยที่ ๑ ลูกหนี้ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทจดหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ได้ที่ดินพิพาทไปก็ได้รู้ข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ทั้งแปดผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นด้วยเช่นนี้ ป.พ.พ. มาตรา ๒๓๗ บัญญัติให้โจทก์ทั้งแปดผู้เป็นเจ้าหนี้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ทั้งแปดขาดอายุความหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๐ แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งแปดเพิ่งได้ทราบว่าจำเลยที่ ๑ นำที่ดินพิพาทไปขายฝากแก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๓๗ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๗ โจทก์ที่ ๔ ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๗ และโจทก์ที่ ๕ ถึงที่ ๘ ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๗ จึงหาพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ โจทก์ทั้งแปดได้รู้ถึงเรื่องการขายฝากซึ่งเป็นต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนั้นได้ คดีโจทก์ทั้งแปดไม่ขาดอายุความ หนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๐
พิพากษายืน .