คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร จำเลยให้การในตอนแรกว่า ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ตามฟ้องของโจทก์เป็นที่ดินต่างแปลงกับที่ดินที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์แต่จำเลยกลับให้การในตอนหลังว่า ถึงแม้ที่ดินตามฟ้องจะเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครอง คดีของโจทก์ขาดอายุความซึ่งเท่ากับว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือของโจทก์และเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกับคำให้การในตอนแรกของจำเลยเองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1708 ตำบลหัวสำโรง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 16 ไร่2 งาน 27 ตารางวา โดยซื้อมาจากเจ้าของเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2532 และโจทก์ครอบครองทำสวนมะม่วงตลอดมา เมื่อ 3 เดือนก่อนฟ้องจำเลยกับบริวารบุกรุกเข้าไปปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินของโจทก์บางส่วน โจทก์ห้ามปรามแต่จำเลยและบริวารไม่ออกจากที่ดินทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า เมื่อเดือนเมษายน 2520 นายสมศักดิ์ เกลาเกลี้ยง กับจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินจากนายพิน นิวัตร์ เนื้อที่ 14 ไร่ เป็นที่ดินไม่มีหลักฐาน ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา นับแต่นั้นมาจำเลยกับนายสมศักดิ์เข้าครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวอย่างเจ้าของโดยใช้เป็นที่ปลูกบ้าน ทำสวนผลไม้และทำไร่มันสำปะหลัง จนกระทั่งต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530 นายสมศักดิ์ถึงแก่กรรมจำเลยกับนางจวน เกลาเกลี้ยง ภริยาของนายสมศักดิ์ได้ร่วมกันครอบครองที่ดินต่อมา นับแต่นายพินขายที่ดินให้แก่จำเลยและนายสมศักดิ์ นายพินไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องของโจทก์อยู่ในเขตตำบลหัวสำโรง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ดินต่างแปลงกับที่จำเลยและนางจวนครอบครองและทำประโยชน์ ถึงแม้ที่ดินตามฟ้องจะเป็นของโจทก์แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่จำเลยแย่งการครอบครอง คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยพร้อมบริวารและให้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1708 ตำบลหัวสำโรง อำเภอบางคล้า (แปลงยาว) จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ตรงบริเวณภายใต้เส้นกรอบหมึกสีเขียว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินดังกล่าว

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตตำบลหัวสำโรงและเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่1708 ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อมามีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่าตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1708 เอกสารหมาย จ.1 มีประวัติความเป็นมาของที่ดินพิพาท กล่าวคือเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายพิน นิวัตร์ ซึ่งทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อปี 2523 ในปี 2529 นายพินได้ขายฝากที่ดินพิพาทไว้แก่นางประกิจโพธิ์ภัยจิตร ต่อมานางประกิจได้ขายให้นายอุทัยและนางประเทือง ซึ่งบุคคลทั้งสองได้ขายให้แก่โจทก์ในปี 2532 โดยโจทก์มีหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 และใบเสร็จรับเงินเสียภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.8 เป็นหลักฐานประกอบ ส่วนจำเลยคงมีตัวจำเลย นางจวน เกลาเกลี้ยง นายเฉลิม พลัดอยู่ และนายเสน่ห์ นันสูรย์ พยานบุคคลเท่านั้นที่เบิกความว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยจำเลยกับนายสมศักดิ์เกลาเกลี้ยง ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายพิน นิวัตร์ เมื่อปี 2520 โดยจำเลยไม่ได้นำนายพินมาเบิกความเป็นพยานและไม่มีเอกสารการซื้อขายมาแสดง และหากที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยก็น่าจะมีเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินหรือร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกเอกสารดังกล่าวให้ดังเช่นที่นายพินร้องขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.1 และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินพิพาทของนายพินแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองจึงหมดสิทธิฟ้องเอาที่ดินพิพาทคืนนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร จำเลยให้การในตอนแรกว่า ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ตามฟ้องของโจทก์ เป็นที่ดินต่างแปลงกับที่ดินที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ แต่จำเลยกลับให้การในตอนหลังว่าถึงแม้ที่ดินตามฟ้องจะเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองคดีของโจทก์ขาดอายุความซึ่งเท่ากับว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือของโจทก์และเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกับคำให้การในตอนแรกของจำเลยเองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายืน

Share