คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4226/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระภาษีอากรที่ค้าง ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ลูกหนี้จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนอีกตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้ตามประมวลรัษฎากร เงินเพิ่มมิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ซึ่งย่อมหมายความว่ากฎหมายมุ่งประสงค์เพียงที่จะเรียกเอาเป็นเงินไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระเท่านั้น ทั้งสองกรณีดังกล่าว จึงจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีก หาได้ไม่ กรมศุลกากรและกรมสรรพากรโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอา ดอกเบี้ยของเงินเพิ่มอากรขาเข้า ของเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ต้องชำระเพิ่มเติมและของเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลอีก

ย่อยาว

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 14,326.02 บาทและเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราเดือนละ 49.17 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขอนอกจากนี้ให้ยกโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า”คงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะค่าดอกเบี้ยของเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ตรี 983.56 บาทของเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ต้องชำระเพิ่มเติม1,262.13 บาท และของเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล1,262.13 บาท โจทก์จะเรียกเอาดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีอีกได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเงินเพิ่มภาษีอากรขาเข้า นอกจากจะต้องเสียในอัตราร้อยละ 20 ของอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ตรีแล้ว ยังจะต้องเสียในอัตราร้อยละ 1ต่อเดือน ต่อไปอีกจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามมาตรา 112 จัตวา และสำหรับเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ต้องชำระเพิ่มเติม รวมทั้งเงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล ประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าที่ไม่ชำระภาษีให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระอยู่แล้ว และกำหนดไว้ด้วยว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างไว้โดยเฉพาะแล้วทั้งสองกรณีตามพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว ในกรณีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 จัตวา ลูกหนี้จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน อีกตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้ เทียบเคียงได้เท่ากับว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยต่อไปในอัตราดังกล่าวอยู่แล้วนั่นเอง ส่วนในกรณีตามประมวลรัษฎากร กฎหมายกำหนดว่าเงินเพิ่มมิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระซึ่งย่อมหมายความว่ากฎหมายมุ่งประสงค์เพียงที่จะเรียกเอาเป็นเงินไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระเท่านั้น ทั้งสองกรณีดังกล่าว จึงจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยดังที่ขอมา ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาในส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
แต่คดีนี้ โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่ม 4,917.80 บาทคิดเป็นเงินเดือนละ 49.17 บาท นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2529 ที่เป็นเช่นนี้เห็นได้ว่า โจทก์คำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าต่อเดือน ขอรวมไว้แล้ว 120 เดือน (รวมอยู่ในยอดเงินเพิ่มทั้งหมด) ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 17 พฤษภาคม 2529 ดังนั้นที่โจทก์ขอนับตั้งแต่วันที่ 18พฤษภาคม 2529 จึงชอบด้วยเหตุผล แต่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดให้จำเลยชำระนับตั้งแต่วันฟ้องคือวันที่ 6 พฤษภาคม 2529 เป็นต้นไปซึ่งนอกจากจะเกินคำขอแล้วยังเป็นการคิดย้อนถอยหลังไปซ้อนกับที่คิดรวมไว้แล้วด้วย จึงไม่ชอบข้อนี้แม้จะมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าจำนวน49.17 บาทต่อเดือน นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2529 เป็นต้นไปนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share