แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และบริษัท ธ. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ร่วมกัน การที่บริษัท ธ. ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัท ธ. และจำเลยที่ 2 ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัท ธ. กับจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าร่วมกัน โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกัน และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้านั้น ย่อมเป็นที่แสดงให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการด้วย
การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนาย ส. ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยถูกโจรกรรมไปเพราะพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 โจทก์จ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยไป 530,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 8 อ – 9428 กรุงเทพมหานครแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 557,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 เหตุที่รถยนต์ของนายสวาทสูญหายไปมิใช่เป็นความผิดของลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้า คันหมายเลขทะเบียน 8 อ – 9428 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายสวาท บุญคำ จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าในอาคารศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2536 เวลา 20.55 นาฬิกา นายสวาท บุญคำ นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าไปจอดที่ลานจอดรถศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า โดยก่อนเข้าไปได้รับบัตรผ่านจากพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อนายสวาทซื้อของในศูนย์การค้าเสร็จกลับออกมาเวลา21.10 นาฬิกา ปรากฏว่ารถยนต์คันที่นำไปจอดสูญหายไป โจทก์ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ จำนวน 530,000 บาท มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ในความสูญหายของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ อันเป็นชื่อของบริษัทจำเลยที่ 2 ในอาคารศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่าโดยจำเลยที่ 2 เช่าพื้นที่อาคารศูนย์การค้าดังกล่าวจากบริษัทธรัตกร จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าว ตามสัญญาเช่าสถานที่เอกสารหมาย ล.8 และบริษัทธรัตกร จำกัดเป็นผู้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว แต่ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่เอกสารหมาย ล.4 และ ล.9 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2531 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ส่วนบริษัทธรัตกร จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อเดือนมีนาคม 2532 ที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ เช่นเดียวกัน กรรมการ 6 คน ของบริษัทธรัตกร จำกัด ก็เป็นกรรมการในบริษัทจำเลยที่ 2 และเป็นกรรมการซึ่งมีอำนาจลงชื่อร่วมกัน 2 คน และประทับตรากระทำการแทนบริษัทได้ ส่อแสดงว่าบริษัททั้งสองเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งพื้นที่อาคารศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า บริเวณที่จำเลยที่ 2 เช่าจากบริษัทธรัตกร จำกัดตามแผนผังแสดงบริเวณสถานที่เช่าตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.8 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เช่าพื้นที่อาคารถึง 5 ชั้น พื้นที่เช่าแต่ละชั้นก็เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารแต่ละชั้น ลักษณะอาคารบริเวณพื้นที่เช่าทั้งห้าชั้นออกแบบไว้เป็นตำแหน่งพื้นที่สำหรับห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ สาขาแอร์พอร์ต มีบันไดขึ้นลงเพื่อใช้ประโยชน์ของพื้นที่ส่วนนี้โดยเฉพาะต่างหากจากพื้นที่ส่วนอื่น บริเวณชั้นที่ 1 ก็มีบันไดและทางเข้าห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า อาคารดังกล่าวได้ออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนสำคัญมาแต่แรก ส่วนพื้นที่ของอาคารที่เหลือซึ่งเป็นส่วนน้อยนั้นเป็นเพียงส่วนย่อยที่สามารถจัดหาประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกบางส่วนโดยการให้บุคคลอื่นเช่าเท่านั้นและการประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 ในศูนย์การค้าดังกล่าวย่อมมีความสำคัญในอันที่จะทำให้ศูนย์การค้านั้นเป็นทำเลการค้าที่ดีที่เป็นประโยชน์ในการจัดการให้เช่าพื้นที่อาคารส่วนที่เหลือได้ดีด้วย จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 และบริษัทธรัตกร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันดังกล่าวแล้วมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า ร่วมกันการที่บริษัทธรัตกร จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัทธรัตกร จำกัด และจำเลยที่ 2 ร่วมกันดังกล่าวด้วยเช่นกันทั้งตามคำเบิกความของนางสุอารีย์ พัฒนเนติธรรม หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ก็ได้ความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า ที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัทธรัตกร จำกัด และจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าเพื่อหาประโยชน์ร่วมกันในศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกันที่ด้านนอกอาคารให้เห็นได้ชัดเจนตามภาพถ่ายหมาย ล.4 และจัดการให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้าดังกล่าวก็ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้ผู้ไปใช้บริการที่ศูนย์การค้านั้นเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วยและโดยเฉพาะการให้บริการที่จอดรถยนต์ของศูนย์การค้าดังกล่าว ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าวจะต้องรับบัตรผ่านจากพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เสียก่อน และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องนำบัตรผ่านมอบคืนให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออก จึงจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถได้ หากไม่มีบัตรผ่าน พนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออก จะต้องนำหลักฐานความเป็นเจ้าของรถยนต์และบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงจึงจะนำรถยนต์ออกไปได้รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรผ่าน และบัตรผ่านเข้าออกเอกสารหมาย ล.3 และ ล.10 แม้จะปรากฏว่าผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถยนต์เองดูแลปิดประตูรถยนต์และเก็บกุญแจรถยนต์ไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรผ่านจะมีข้อความว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ของรถยนต์ที่เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ต้องเสียค่าบริการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมาก็ย่อมทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าบริเวณลานจอดรถดังกล่าวนั้นจำเลยทั้งสองและเจ้าของศูนย์การค้าจัดให้มีบริการรักษาความเรียบร้อยความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับดูแลความเรียบร้อยความปลอดภัยทั้งขณะที่จะนำรถยนต์เข้าจอดในอาคารและขณะที่จะนำรถยนต์ออกจากอาคาร ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และถือบัตรผ่านจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้เลย เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อนการกระทำที่ปฏิบัติก่อน ๆ มาดังกล่าวของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอดโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่จอด หรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก ซึ่งหากมีการตรวจบัตรตรงช่องทางที่รถยนต์ออกโดยเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของนายสวาทจะถูกลักไปได้ การที่รถยนต์ของนายสวาทสูญหายไปนี้เชื่อว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดอันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสวาทถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสวาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนายสวาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าวจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ชำระค่าเสียหายในการที่รถยนต์สูญหายครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 530,000 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 จึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันนำรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 อ – 9428 กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถนำรถยนต์คันดังกล่าวคืนโจทก์ก็ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 557,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 530,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ